แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฎีกาของโจทก์ทั้งสามที่ว่า โจทก์ทั้งสามไม่ได้ปักหลักเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิคัดค้านการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสาม เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ว่า โจทก์ทั้งสามนำชี้แนวเขตที่ดินของตนรุกล้ำเข้าไปในแนวเขตที่ดินของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิคัดค้านการรังวัดดังกล่าว อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่า จำเลยมีสิทธิคัดค้านการรังวัดแนวเขตแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามตามฟ้องหรือไม่ครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือของจำเลยแล้ว ส่วนข้อที่ว่าจำเลยไม่คัดค้านการรังวัดภายในกำหนดตามกฎหมายที่ดิน จำเลยจึงหมดสิทธิคัดค้านนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้วว่าโจทก์ทั้งสามนำรังวัดรุกล้ำที่ดินของจำเลย จำเลยในฐานะของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิขัดขวางหรือคัดค้านการกระทำของโจทก์ทั้งสามได้เสมอ ดังนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อดังกล่าว เพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เปลี่ยนแปลงไป
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า เมื่อปี 2532 โจทก์ทั้งสามร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 22627 เนื้อที่ 3 งาน 19 ตารางวา จากนางสาวนวพร เมื่อปี 2536 โจทก์ที่ 3 ได้ปลูกบ้านลงในที่ดินดังกล่าว 1 หลัง ส่วนจำเลยซื้อที่ดินจากนางสาวนวพรแปลงติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่โจทก์ทั้งสามซื้อและเมื่อปี 2537 จำเลยปลูกหรือยินยอมให้บริวารของจำเลยปลูกเพิงขายของลงบนที่ดินติดกับบ้านของโจทก์ที่ 3 ต่อมาในปี 2540 โจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและนัดทำการรังวัด ซึ่งในวันนัดได้มีการรังวัดตามโฉนดที่ดินเดิมพร้อมกับทำการรังวัดปักเขตแต่จำเลยไม่ยอมรับรองแนวเขต เจ้าพนักงานที่ดินจึงให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการจดทะเบียนและแก้ไขโฉนดให้ตรงกับการรังวัดใหม่ซึ่งโจทก์ทั้งสามดำเนินการเรียบร้อยภายในกำหนดโดยจำเลยไม่ได้มาคัดค้าน หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและมีการนัดทำการรังวัด โดยโจทก์ทั้งสามมีหนังสือไปถึงเจ้าของที่ดินทั้งสี่ด้านรวมทั้งจำเลย ในวันรังวัดโจทก์ทั้งสามนำรังวัดปักหลักเขตโดยชี้ตรงตำแหน่งเดิมที่ได้รังวัดครั้งก่อน นายช่างรังวัดทำการลงหลักปักหลักเขตทางด้านติดทางหลวงสายพหลโยธิน-ลำลูกกา และทางด้านติดคลองชลประทานรวม 2 หลัก โดยเจ้าหน้าที่ทางหลวงและเจ้าหน้าที่ชลประทานลงนามรับรองแนวเขต ส่วนการลงหลักปักหลักเขตทางด้านติดที่ดินของจำเลย จำเลยโต้แย้งว่ารุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นแนวเขตเดียวกับที่โจทก์ทั้งสามเคยนำรังวัดครั้งแรก ในที่สุดโจทก์ทั้งสามได้นำปักหลักเขตที่จะแบ่งแยกตามที่นายช่วงรังวัดชี้ ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำคัดค้านเขตและระงับเรื่องขอยื่นแบ่งกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสามในวันที่ 20 กันยายน 2540 เจ้าพนักงานที่ดินเรียกโจทก์ทั้งสามและจำเลยไปไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันไม่ได้ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำคัดค้านดังกล่าวนั้นเสีย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนคำคัดค้านของจำเลยดังกล่าว และห้ามจำเลยขัดขวางการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 22628 เนื้อที่ 1 งาน 49 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามทางด้านทิศเหนือ จำเลยซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากนางสาวนวพร โดยซื้อมาก่อนโจทก์ทั้งสามและแนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยมีเสาหินหรือหมุดหลักเขตถาวรฝังดินไว้เป็นเขตที่ดินแน่นอนแล้วตั้งแต่ปี 2529 แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามทำการรังวัดเสาหินหรือหมุดหลักเขตได้สูญหายไป โจทก์ทั้งสามรังวัดปักหลักเขตรุกล้ำแนวเขตที่ดินของจำเลยตลอดแนวด้านทิศใต้ประมาณ 3 วา จำเลยจึงได้คัดค้าน โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้พ้นกำหนด 90 วัน นับจากวันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 ที่เจ้าพนักงานที่ดินทำการไกล่เกลี่ยโจทก์ทั้งสามและจำเลยแล้ว คดีโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม นางสาวสุรีย์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อแรกที่ว่าโจทก์ทั้งสามไม่ได้ปักหลักเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิคัดค้านการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสามได้นั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ว่า โจทก์ทั้งสามนำชี้แนวเขตที่ดินของตนรุกล้ำเข้าไปในแนวเขตที่ดินของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิคัดค้านการรังวัดดังกล่าว อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท และผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้รับรองให้ฎีกา รวมทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อที่ว่า ศาลชั้นต้นไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามหรือจำเลยเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดในข้อแรกว่า จำเลยมีสิทธิคัดค้านการรังวัดแนวเขตแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามตามฟ้องหรือไม่นั้นครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือของจำเลยแล้ว ส่วนข้อที่ว่าจำเลยไม่คัดค้านการรังวัดภายในกำหนดตามกฎหมายที่ดิน จำเลยจึงหมดสิทธิคัดค้านนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้วว่าโจทก์ทั้งสามนำรังวัดรุกล้ำที่ดินของจำเลย จำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิขัดขวางหรือคัดค้านการกระทำของโจทก์ทั้งสามได้เสมอ ดังนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อดังกล่าว เพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เปลี่ยนแปลงไป
อนึ่งโจทก์ทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลในขณะยื่นคำฟ้องมาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์จำนวน 200 บาท เมื่อจำเลยให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โจทก์ทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ โจทก์ทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทแล้วแต่ไม่ได้หักค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียไว้แล้วจึงเสียเกินมาซึ่งไม่ถูกต้อง ต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินให้แก่โจทก์ทั้งสาม”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นส่วนที่โจทก์ทั้งสามเสียไว้เกินจำนวน 200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ