คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขั้นตอนการขออนุญาตฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 มิได้มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นระบุชื่อผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นด้วย การที่ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงเป็นการไม่ชอบไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวแสงอรุณ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับการกระทำของจำเลยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมากนักและไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน เห็นสมควรลงโทษสถานเบา ให้จำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้นำภาพโจทก์ร่วมไปปิดกระดาษและเขียนข้อความตามฟ้อง และการปิดกระดาษและเขียนข้อความดังกล่าวกระทำที่ฝาผนังกระจกด้านในของสำนักงานซึ่งแยกเป็นส่วนสัดจากบอร์ดประกาศข่าวซึ่งอยู่ด้านนอก เพื่อบอกกล่าวพนักงานให้ช่วยกันระมัดระวังเหตุการณ์ ผู้กระทำมิได้มีเจตนาใส่ความโจทก์ร่วมให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งขั้นตอนในการขออนุญาตฎีกาตามบทบัญญัติมาตรานี้ มิได้มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 จำเลยระบุชื่อขอให้นางพัชรวรรณ นายชูเกียรติ และนายประเสริฐ ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นด้วย การที่ นายสุชาติผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียเองจึงเป็นการไม่ชอบไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งคำร้องของจำเลย ฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ไปให้ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลย หากมีการอนุญาตหรือไม่อนุญาตประการใดก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ในชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา

Share