คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3730/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วัตถุประสงค์ของการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 ก็เพื่อให้โจทก์สามารถบังคับคดีได้เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ดังนั้น สิ่งที่จะขอคุ้มครองจะต้องตรงกับการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องร้องหรืออยู่ในประเด็นแห่งคดีและเป็นเรื่องที่อยู่ในคำขอท้ายฟ้องด้วย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยหลังจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์แล้วกลับไปทำสัญญาจะซื้อจะขายและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมีคำขอท้ายฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แต่ท้ายฟ้องของโจทก์ไม่มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์ไป คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ที่ขอห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาจึงเป็นเรื่องนอกเหนือจากประเด็นแห่งคดีและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 มาใช้บังคับได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่โดยเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1083, 1084 ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 7 สิงหาคม 2544 ให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2545 ในคดีของศาลชั้นต้นคดีหมายเลขดำที่ 260/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 1592/2545 ระหว่าง นางสิริลักษณ์ โจทก์ นางจรินทิพย์ ที่ 1 นางสาวสมทรง ที่ 2 ให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2545 ให้มีคำพิพากษาว่า คำพิพากษาตามยอมระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีหมายเลขดำที่ 260/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 1592/2545 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2545 ไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนเรื่องกรรมสิทธิ์รวมและสัญญาจำนองที่ดินพิพาทรายการลงวันที่ 27 มิถุนายน 2545 ออกจากสารบัญจดทะเบียนโฉนดเลขที่ 1083, 1084 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหนนคร หากการเพิกถอนนิติกรรมและหรือคำพิพากษาตกเป็นพ้นวิสัย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 104,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จ
โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กำลังขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกจากกันและอาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไปยังบุคคลอื่นอีกซึ่งจะทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่สามารถบังคับคดีได้หากชนะคดีในที่สุด ขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทพร้อมมีคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิรับโอนที่ดินแปลงพิพาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 3 ตามคำสั่งของศาลในคดีหมายเลขดำที่ 260/2545 โดยผลของกฎหมาย มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลที่จะชนะคดีจำเลยได้อีก ทั้งไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองก่อนพิพากษามาใช้บังคับ ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า คำฟ้องและคำร้องของโจทก์ไม่มีมูลตามกฎหมายเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยสุจริตเปิดเผยและเสียค่าตอบแทน คำร้องของโจทก์มีเจตนาทำให้จำเลยที่ 3 เสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้และต้องรับภาระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 3 ที่ 4 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 มาใช้บังคับหรือไม่ เห็นว่า วัตถุประสงค์ของการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 ก็เพื่อให้โจทก์สามารถบังคับคดีได้เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ดังนั้น สิ่งที่จะขอคุ้มครองจะต้องตรงกับการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องร้องหรืออยู่ในประเด็นแห่งคดีและเป็นเรื่องที่อยู่ในคำขอท้ายฟ้องด้วย คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยหลังจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์แล้วกลับไปทำสัญญาจะซื้อจะขายและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมีคำขอท้ายฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แต่ท้ายฟ้องของโจทก์ไม่มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์ไป คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ที่ขอห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาจึงเป็นเรื่องนอกเหนือจากประเด็นแห่งคดีและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 มาใช้บังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share