แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 บัญญัติว่า ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ท่านให้ยกเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ (3) ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และใช้เฉพาะในการรักษาพยาบาลและในการศึกษา โรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินจึงต้องประกอบด้วยลักษณะสามประการ กล่าวคือประการแรก เป็นโรงเรียนสาธารณะ ประการที่สอง จะต้องกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และประการที่สาม จะต้องใช้เฉพาะในการศึกษาเท่านั้น
ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 มาตรา 61 แสดงให้เห็นว่า การกระทำกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอย่างเช่นมหาวิทยาลัยโจทก์เป็นกิจการที่หาผลกำไรได้
กิจการมหาวิทยาลัยโจทก์เป็นกิจการที่กระทำเพื่อหวังผลกำไรโดยแท้ และเมื่อผู้รับใบอนุญาตสามารถได้รับการจัดสรรผลกำไรได้ตามที่พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติไว้ จึงเป็นกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล
เมื่อโจทก์กระทำกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลแล้ว การที่ผู้รับใบอนุญาตที่จะได้รับปันผลเงินคืนจะมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรหรือไม่ เป็นคนละกรณีกันกับโจทก์ ดังนั้น ทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 และวันที่ 3 เมษายน 2545 โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้ส่งใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 หรือ ภ.ร.ด.8 ประจำปีภาษี 2535 ถึง 2545 ไปยังโจทก์ผู้รับประเมิน โดยให้โจทก์นำเงินไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งรายการ โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น วันที่ 8 มีนาคม 2545 และวันที่ 18 เมษายน 2545 โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 25 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด.9) ประจำปีภาษี 2535 ถึง 2544 และ 2545 ตามลำดับใหม่ เนื่องจากโจทก์ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามใบแจ้งรายการประเมินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 4 มีใบแจ้งคำชี้ขาดตาม มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ลงวันที่ 3 มกราคม 2546 แจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีเป็นจำนวนเงินเช่นเดียวกับที่ได้ประเมินภาษีตามใบแจ้งรายการประเมิน การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 กล่าวคือ โจทก์เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการก่อตั้งและดำเนินการบริหารงานโดยองค์กรศาสนาคริสต์ที่มีนักบวชของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยเป็นผู้บริหารโดยสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันบริหาร การบริหารสถาบันของโจทก์นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองความต้องการของชาติในด้านการศึกษาชั้นสูงระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชา คณะวิชาต่าง ๆ โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของชาติและตลาดแรงงาน โดยมิได้แสวงผลทางหากำไร ประกอบกับการที่โจทก์ดำเนินการบริหารสถาบันการศึกษาดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนสาธารณะ ตึกที่ใช้ประโยชน์เป็นสถานศึกษาจึงอยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (3) การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินในประเภททรัพย์สินตึกใช้ประโยชน์เป็นสถานศึกษาเอกชนของจำเลยทั้งห้าก็ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเหตุผล จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินไม่ถูกต้อง พื้นที่ประเมินไม่ถูกต้อง ทรัพย์สินที่เป็นตึกใช้ประโยชน์เป็นสถานศึกษาเอกชน ประเมินกำหนดค่ารายปีไม่ถูกต้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2535 ถึง 2544 ตาม ภ.ร.ด.8 เล่มที่ 41 เลขที่ 5, เล่มที่ 43 เลขที่ 5, เล่มที่ 44 เลขที่ 5, เล่มที่ 119, เลขที่ 6, เล่มที่ 119 เลขที่ 7, เล่มที่ 119 เลขที่ 11, เล่มที่ 80 เลขที่ 11, เล่มที่ 79 เลขที่ 20, เล่มที่ 76 เลขที่ 2, เล่มที่ 45 เลขที่ 10 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 และประจำปีภาษี 2545 ตาม ภ.ร.ด.8 เล่มที่ 25 เลขที่ 10 ลงวันที่ 3 เมษายน 2545 พร้อมทั้งใบแจ้งคำชี้ขาด ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เล่มที่ 21 เลขที่ 83 และเลขที่ 84 ลงวันที่ 3 มกราคม 2546 อีกทั้งให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันคือเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 7,674,645 บาท และ 1,002,825 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2545 และวันที่ 26 เมษายน 2545 ตามลำดับ อันเป็นวันที่จำเลยทั้งห้าได้รับเงินจากโจทก์จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งห้าให้การว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่เพียงสองประเด็น ประเด็นแรกทรัพย์สินของโจทก์ทั้งหมดได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ประเด็นที่สอง การประเมินภาษีโจทก์ย้อนหลังสิบปีเป็นการมิชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิหยิบยกประเด็นที่กล่าวอ้างในฟ้องดังกล่าวมายื่นฟ้องต่อศาลได้ และตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงให้แจ้งชัดว่าหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน พื้นที่ประเมิน ตลอดจนการกำหนดค่ารายปีไม่ถูกต้องอย่างใด และที่ถูกต้องตามที่โจทก์พอใจเป็นอย่างใด จำเลยทั้งห้าไม่สามารถเข้าใจคำฟ้องและไม่อาจต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม ปลายปี 2542 จำเลยที่ 1 ตรวจสอบพบว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนซึ่งเป็นตึกและตึกแถว ใช้ประโยชน์ตึกและตึกแถวดังกล่าวประกอบกิจการของโจทก์หารายได้มาก่อนปี 2535 แต่ไม่ยื่นแบบและแจ้งรายการเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โจทก์โต้แย้งว่ากิจการของโจทก์อยู่ในความหมายของคำว่า “โรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล” ตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แต่จำเลยที่ 1 เห็นว่า “มหาวิทยาลัย” ไม่น่าจะอยู่ในความหมายของคำว่า “โรงเรียนสาธารณะ” เพราะเป็นการศึกษาที่ต่างระดับกัน จำเลยที่ 1 ได้หารือประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือว่า “โรงเรียนสาธารณะ” มิได้จำกัดเฉพาะสถานศึกษาที่จัดให้มีการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาเท่านั้น หากแต่หมายความรวมถึงสถานศึกษาที่จัดให้มีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาด้วย นอกจากนี้ทรัพย์สินที่จะอยู่ในความหมายของคำว่า “ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะ” ได้ จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐเท่านั้นไม่รวมถึงทรัพย์สินของเอกชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญโจทก์มีสถานะเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังนั้น ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญโจทก์จึงมิใช่ทรัพย์สินที่อยู่ในความหมายของคำว่า “ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะ” และปรากฏข้อเท็จจริงจากผลประกอบการของโจทก์ช่วงปี 2537 ถึง 2541 มีกำไรสูงขึ้นทุกปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อผลกำไรส่วนบุคคล ทรัพย์สินที่เป็นตึกและตึกแถวของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินสำหรับประจำปีภาษี 2535 ถึง 2544 ไปยังโจทก์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 จำเลยที่ 1 ประเมินเรียกเก็บโดยนำค่ารายปีของปีภาษี 2544 มาถือเป็นค่ารายปีของปีภาษี 2545 แล้วแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ เนื่องจากโจทก์ไม่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ไม่เกินสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เมื่อนับย้อนหลังไปสิบปี สำหรับการประเมินภาษีประจำปีภาษี 2535 ถึง 2544 ที่ได้แจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 จึงถือว่าอยู่ในระยะเวลาที่จะประเมินได้ตามกฎหมาย หลังจากที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดหักล้างการประเมินได้ จึงมีมติยืนตามการประเมิน โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวและสามารถดำเนินธุรกิจหรือทำนิติกรรมกับผู้อื่นได้การดำเนินการของโจทก์จึงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งและไม่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิแต่อย่างใด ทั้งตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 ก็ไม่ได้มีข้อห้ามว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะแสวงหากำไรไม่ได้ แต่ยังระบุให้แบ่งปันกำไรกันได้ตามมาตรา 61 วรรคสอง ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ดำเนินการในรูปของมูลนิธิทางศาสนาจึงรับฟังไม่ได้ โจทก์เป็นนิติบุคคลต่างหากแยกจากมูลนิธิ เพราะฉะนั้นมูลนิธิจะมีวัตถุประสงค์หรือจะดำเนินการอย่างใดก็เป็นเรื่องของมูลนิธิไม่เกี่ยวกับโจทก์ นอกจากนี้กิจการของโจทก์ยังมีรายได้อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาอีก เช่น รายได้จากศูนย์อาหาร รายได้จากการใช้เครื่องปรับอากาศอีกจำนวนหนึ่ง ที่เป็นการดำเนินการในรูปแบบธุรกิจหากำไร โจทก์จะอ้างว่ากิจการของโจทก์เป็นการสาธารณะไม่ได้แสวงหากำไรเช่นเดียวกับโรงเรียนหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเพื่อจะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 นั้น ย่อมไม่ได้ จำเลยทั้งห้ามีข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนที่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์ประกอบการมีผลกำไรส่วนบุคคลและยังมีหลักฐานที่แสดงว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอื่นก็ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินมาโดยตลอด รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นก็มีการเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในลักษณะเดียวกันนี้ หากไม่เก็บภาษีจากโจทก์ก็จะไม่เป็นธรรมแก่สุจริตชนทั่วไปที่เสียภาษีให้แก่รัฐอย่างถูกต้อง จำเลยที่ 2 มิใช่บุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมายจึงไม่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการประเมินเรียกเก็บภาษีและการพิจารณาชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการประเมินคือจำเลยที่ 1 และผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีในการประเมินเรียกเก็บภาษีรายนี้ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 7 ทวิ คือนางอัจฉรา ส่วนผู้มีหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินคือจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 และมาตรา 30 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และพิจารณาอุทธรณ์เพื่อพิจารณาก่อน จำเลยที่ 5 เป็นเพียงหนึ่งในคณะกรรมการดังกล่าว และตามฟ้องโจทก์ไม่มีส่วนใดที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปีภาษี 2535 ถึง 2544 ภายในกำหนดเวลา แต่ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 ต่อจำเลยที่ 1 ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 192 ถึง 197 จำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินมายังโจทก์ ตามใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 ถึง 42 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 138 ถึง 158 และ 160 ถึง 195 คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินและแจ้งคำชี้ขาดให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 65 ถึง 68
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ทรัพย์สินพิพาทของโจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือไม่ ข้อนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า ทรัพย์สินของโจทก์เป็นโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และใช้เฉพาะในการศึกษาเท่านั้น จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 บัญญัติว่า ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ท่านให้ยกเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ (3) ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการรักษาพยาบาลและในการศึกษา จากบทบัญญัตินี้จะเห็นได้ว่า โรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินจะต้องประกอบด้วยลักษณะสามประการ กล่าวคือ ประการแรก เป็นโรงเรียนสาธารณะ ประการที่สอง จะต้องกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และประการที่สาม จะต้องใช้เฉพาะในการศึกษาเท่านั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า มหาวิทยาลัยโจทก์กระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลหรือไม่ ข้อนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า ในการดำเนินกิจการของโจทก์ โจทก์ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสนองความต้องการของชาติในด้านการศึกษาชั้นสูงระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชา คณะวิชาต่าง ๆ โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของชาติและตลาดแรงงาน โดยมิได้แสวงหาผลกำไร เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อปรากฏว่ากองทุนทั่วไปมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายประจำปีให้สภาสถาบันจัดสรรเงินรายได้ส่วนที่สูงกว่ารายจ่ายให้แก่กองทุนประเภทอื่นนอกจากกองทุนทั่วไปรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของรายได้ที่สูงกว่ารายจ่ายประจำปี และวรรคสองบัญญัติว่าเงินที่เหลือจากการจัดสรรตามวรรคหนึ่ง สภาสถาบันอาจจัดสรรให้แก่ผู้รับใบอนุญาตได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของส่วนของสินทรัพย์ในกองทุนประเภทต่าง ๆ รวมกันหลังจากหักหนี้สินแล้ว ถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดให้จัดส่งให้แก่กองทุนทั่วไป ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า การกระทำกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอย่างเช่นมหาวิทยาลัยโจทก์เป็นกิจการที่หาผลกำไรได้ มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า โจทก์กระทำกิจการมหาวิทยาลัยเพื่อหาผลกำไรหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามตารางแสดงรายได้-ค่าใช้จ่ายและรายได้ที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายของโจทก์ประจำปี 2537 ถึง 2541 ซึ่งจัดทำโดยสงัด นักวิชาการศึกษา 6 สำนักกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 78 พบว่าโจทก์มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายทุกปีเป็นจำนวนเงินปี 2537 จำนวน 313,770,106 บาท ปี 2538 จำนวน 419,689,808 บาท ปี 2539 จำนวน 476,791,399 บาท พฤติการณ์แห่งคดีจึงแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า กิจการมหาวิทยาลัยโจทก์เป็นกิจการที่กระทำเพื่อหวังผลกำไรโดยแท้ และเมื่อผู้รับใบอนุญาตสามารถได้รับการจัดสรรผลกำไรดังกล่าวได้ตามที่พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติไว้ จึงเป็นกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล ที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ไม่เคยมีการปันผลเงินคืนให้แก่ผู้รับใบอนุญาตนั้น ก็ไม่มีผลทำให้การกระทำกิจการของโจทก์ที่เป็นกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลเปลี่ยนไป เพราะเป็นเรื่องการบริหารภายในของโจทก์เองว่าจะปันผลเงินคืนให้แก่ผู้รับใบอนุญาตหรือไม่ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าผู้รับใบอนุญาตของโจทก์คือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยซึ่งมีวัตถุประสงค์อุปการะ ฟื้นฟู ส่งเสริมการศึกษาและโรงเรียนที่ได้ก่อตั้งไว้ และส่งเสริมโรงเรียนที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อความก้าวหน้าในการศึกษาให้การศึกษาแก่เด็กกำพร้า และการฝึกหัดครูโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียนอีกทั้งจะต้องไม่ทำการค้ากำไร และจำต้องไม่ดำเนินการนอกเหนือไปจากตราสารที่กำหนดไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์กระทำกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลแล้ว การที่ผู้รับใบอนุญาตที่จะได้รับปันผลเงินคืนจะมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรหรือไม่เป็นคนละกรณีกันกับโจทก์ ดังนั้น ทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (3) แต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า มหาวิทยาลัยของโจทก์เป็นโรงเรียนสาธารณะ และใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้นหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า การที่จำเลยนำทรัพย์สินของโจทก์ไปเปรียบเทียบกับทรัพย์สินของนางจินดา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน (โรงเรียนนานาชาติ) ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สินเพราะทรัพย์สินของโจทก์มิได้คล้ายคลึงกันกับทรัพย์สินของนางจินดา และทรัพย์สินของโจทก์อยู่ในความควบคุมกำกับดูแลโดยทบวงมหาวิทยาลัย เห็นว่า แม้ทรัพย์สินของโจทก์เป็นสถานที่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการศึกษา การจัดเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาของประชาชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็ตาม แต่ตามคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 138 ถึง 158 และ 160 ถึง 195 โจทก์มิได้โต้แย้งการประเมินในประเด็นนี้ ซึ่งเป็นการแสดงว่าโจทก์พอใจการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในรายการนั้นแล้ว ปัญหานี้แม้ศาลภาษีอากรกลางจะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยให้ ค่ารายปีจึงยุติไปตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตราตามการประเมินและคำชี้ขาด อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ