คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเพราะเข้าใจว่าที่ดินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้นสามารถซื้อขายและโอนกันได้ โดยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นที่หลวงซึ่งมีกฎหมายห้ามโอนไว้ แสดงว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมว่าสามารถโอนกันได้ แต่ความจริงโอนกันไม่ได้ เพราะมีกฎหมายห้ามโอนไว้ จึงเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 เดิม (มาตรา 156ที่แก้ไขใหม่) คู่กรณีจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1ต้องคืนเงินค่าซื้อที่ดินให้โจทก์ที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 6746 เนื้อที่ดิน 25 ไร่ 2 งาน ร่วมกับนางรวีวรรณ และนางนงเยาว์ โดยโจทก์ทั้งสี่ซื้อกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2513 เดิมจำเลยทั้งสองและนางรวีวรรณ กับนางนงลักษณ์ ร่วมกันเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6746 ดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ขายกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยทั้งสองให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยจำเลยทั้งสองแจ้งว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยสมบูรณ์ มีอำนาจที่จะขายที่ดินส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสี่หลงเชื่อจึงได้ทำสัญญาซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งสอง โดยจดทะเบียนซื้อขายกันที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี จำเลยที่ 1ขายกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของตนให้โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 ขายกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2,ที่ 3 และที่ 4 ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2526 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีมีหนังสือแจ้งการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวไปยังผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่ด้วย อ้างว่ากรมที่ดินมีคำสั่งที่ 788/2526 ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงนี้เสียเพราะเป็นโฉนดทีออกมาทับกับที่ดินอันเป็นเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบและทวงถามให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินทั้งหมดจำนวน 1,105,500 บาท จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายคิดเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองรับเงินไปจากโจทก์ทั้งสี่เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ทำนองเดียวกันว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน2513 จำเลยทั้งสองได้ขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6746 ในส่วนของจำเลยทั้งสองให้แก่โจทก์ทั้งสี่จริง โดยจดทะเบียนซื้อขายกันต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยถูกต้อง ที่ดินส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ซื้อมาจากนายธานีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์2513 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน การออกโฉนดที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายธานี ตลอดจนการจดทะเบียนเปลี่ยนโอนกรรมสิทธิ์เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานที่ดินกระทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ การเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 6746 ตามฟ้องเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานที่ดินที่กระทำโดยมิชอบ หากโจทก์ได้รับความเสียหายก็เป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโจทก์ซื้อที่ดินแปลงนี้มิใช่เพราะถูกหลอกลวง แต่โจทก์ซื้อเพราะเชื่อว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิขายที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินโฉนดที่ 6746 ไม่ใช่ที่หลวงที่จะห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินได้และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมนางขนิษฐ์ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จำนวน 5,100ตารางวา ตามโฉนดที่ดิน เลขที่ 6746 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้อื่น ในราคา892,500 บาท ปรากฎในเวลาต่อมาว่าที่ดินตามโฉนดดังกล่าวได้ออกโฉนดทับที่ดินในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อันเป็นที่หลวงหวงห้ามตามพระบรมราชโองการ พ.ศ. 2467 และตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 10 และถูกอธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะหรือไม่เห็นว่าการที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเพราะเข้าใจว่าที่ดินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้นสามารถซื้อขายและโอนกันได้โดยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นที่หลวงซึ่งมีกฎหมายห้ามโอนไว้แสดงว่าโจทก์ที่ 1 และ จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมว่าสามารถโอนกันได้แต่ความจริงโอนกันไม่ได้เพราะมีกฎหมายห้ามโอนไว้ จึงเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 เดิม(มาตรา 156 ที่แก้ไขใหม่) คู่กรณีจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินค่าซื้อที่ดินที่โจทก์ที่ 1
พิพากษายืน

Share