คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขอำเภอฝางและเป็นพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้รับเอาเงินค่าธรรมเนียมฝากส่งจดหมายแต่ละวันเป็นเวลา 7 วัน รวม 7ครั้งไว้โดยมิได้ปิดตราไปรษณียากรที่ซองจดหมายหรือมิได้จ่ายตราไปรษณียากรให้ผู้ฝากปิดเองตามระเบียบ แล้วเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมและกักจดหมายดังกล่าวแต่ละวันไว้ เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยยักยอกเอาเงินดังกล่าวแต่ละครั้งแต่ละวันไปอันเป็นความผิดหลายกรรมรวม 7 กรรม เมื่อพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 มาตรา15 บัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จะปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 หาได้ไม่ และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา147 แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา 157 อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้บังอาจกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2525 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2525 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บังอาจกระทำการยักยอกทรัพย์เบียดบังเอาเงินและทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแลรักษารับผิดชอบของจำเลยไปเป็นประโยชน์โดยจำเลยได้รับฝากไปรษณีย์ประเภทจดหมายลงทะเบียนจากผู้ฝากถึงผู้ส่งพร้อมเรียกเงินค่าธรรมเนียมในการฝากส่งแล้วเก็บรักษาไว้ในความครอบครองตามหน้าที่ของจำเลย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย5 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 89 บาท 40 สตางค์ วันที่ 7 มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย 1 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 19 บาท 50 สตางค์ วันที่ 9 มีนาคม 2525รับฝากจดหมาย 5 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 106 บาท 90 สตางค์ วันที่ 12 มีนาคม2525 รับฝากจดหมาย 2 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 34 บาท วันที่ 15 มีนาคม 2525รับฝากจดหมาย 6 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 138 บาท 50 สตางค์ วันที่ 16 มีนาคม2525 รับฝากจดหมาย 1 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 28 บาท 50 สตางค์ วันที่ 19มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย 2 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 57 บาท 80 สตางค์รวมเป็นจดหมาย 22 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 374 บาท 60 สตางค์แล้วจำเลยเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปโดนทุจริต

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2525 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2525 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยได้บังอาจกักจดหมายที่มีผู้ฝากส่งทางไปรษณีย์ดังกล่าวมาแล้ว 32 ฉบับ เหตุเกิดที่ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 163, 91 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4, 11 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน374 บาท 60 สตางค์ ให้แก่การสื่งสารแห่งประเทศไทย

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิม ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 163, 91 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11 ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่ายงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 เรียงกระทงความผิดกระทงละ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 7 กระทง จำคุก 35 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 23 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 374 บาท 60 สตางค์ แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทย

จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยมีความผิดเพียงกรรมเดียวและไม่สมควรที่จะรอการลงโทษ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยไว้ 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยแต่ละกรรมรวม 7 กรรม ตามฟ้องของโจทก์

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงไว้ว่า จำเลยรับเงินค่าธรรมเนียมฝากส่งจดหมายแต่ละวันเป็นเวลา 7 วัน รวม 7 ครั้งไว้โดยมิได้ปิดตราไปรษณียากรที่ซองจดหมาย และการปิดตราไปรษณียากรดังกล่าวได้ความว่าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบคือจ่ายตราไปรษณียากรให้ผู้ฝากปิดเองศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยรับเงินค่าธรรมเนียมการฝากส่งจดหมายแต่ละครั้งรวม 7 ครั้ง ไว้โดยมิได้ปิดตราไปรษณียากร แล้วเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมและกักจดหมายดังกล่าวแต่ละวันไว้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยยักยอกเอาเงินดังกล่าวแต่ละครั้งแต่ละวันไปอันเป็นความผิดหลายกรรมรวม 7 กรรม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่จำเลยเป็นพนักงานของการสื่งสารแห่งประเทศไทยซึ่งตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 มาตรา 15 บัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จะปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ดังที่ศาลล่าวทั้งสองพิพากษาหาได้ไม่และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 147 แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา 157 อีก

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 163, 91 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เรียงกระทงความผิดกระทงละ 5 ปี รวม 7 กระทง จำคุก 35 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 23 ปี4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share