คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4364/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทราบดีว่า ว. มีปัญหาอยู่กับผู้ถือหุ้นมาก่อน และโจทก์ทราบมาก่อนแล้วว่าจะมีการประชุมถอดถอน ว.ออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยร่วมสัญญาสัมปทานฉบับพิพาททำขึ้นภายหลังที่ผู้ถือหุ้นขอให้มีการประชุมถอดถอน ว.และก่อนวันประชุมถอดถอนว.เพียง 9 วัน โจทก์กับ ว. ทำสัญญาสัมปทานฉบับพิพาทโดยไม่สุจริตโดยการแสดงเจตนาลวงสมรู้กันระหว่างโจทก์กับ ว.สัญญาสัมปทานจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 ที่แก้ไขใหม่ ศาลชั้นต้นได้กำชับโจทก์ให้เตรียมพยานมาให้พร้อมจะไม่ให้เลื่อน คดีอีกเพราะเสียเวลามามากแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องขวนขวายมาศาลให้ทันตามเวลานัด การที่โจทก์ไม่มาศาล ให้ทันตามเวลานัด แสดงว่าโจทก์ไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลชั้นต้น ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมโดยนายวิเชียร ศรีรัตโนภาสกรรมการผู้มีอำนาจได้ทำสัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์ ให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเก็บค่าเช่าแผงและเก็บรายได้อื่น ๆ ในตลาดสดพรานนกเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 เป็นต้นไปโดยโจทก์ต้องเป็นผู้จัดหาคนทำความสะอาดดูแลรักษาซ่อมแซมตลาดและต้องจ่ายค่าตอบแทนในการเข้าดำเนินการให้แก่จำเลยร่วมปีละ120,000 บาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 360,000 บาท เมื่อทำสัญญากันแล้วโจทก์ได้เข้าดำเนินการตามสัญญาเรื่อยมา ต่อมาจำเลยทั้งแปดได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์โดยร่วมกับพวกเข้าไปในตลาดพรานนก ทำการประกาศโฆษณา ชักชวนให้บรรดาผู้ที่ค้าขายในตลาดงดจ่ายค่าเช่าแผง ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบริการสุขาแก่โจทก์และจำเลยทั้งแปดได้ร่วมกันเก็บค่าเช่าแผง ค่าน้ำ ค่าบริการสุขาและอื่น ๆ เสียเอง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเก็บผลประโยชน์ตามสัญญาได้ จำเลยทั้งแปดและจำเลยร่วมได้แย่งเก็บรายได้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,140,534 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 81,263 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดกับจำเลยร่วมและบริวารงดเข้ามาเก็บค่าเช่าแผง ค่าบริการสุขา และค่าน้ำทั้งหมด ในตลาดพรานนกจนกว่าจะครบสัญญาให้จำเลยทั้งแปดกับจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 1,221,797 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,140,534 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายวันละ 3,337 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งแปดจะหยุดการกระทำละเมิดต่อโจทก์ กับให้จำเลยร่วมชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นเงิน 720,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจรกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาสัมปทานไม่ได้ทำกันขึ้นจริงขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้การว่า สัญญาสัมปทานเป็นสัญญาที่โจทก์กับนายวิเชียน ศรีรัตโนภาส สมคบกันทำขึ้นเพื่อฉ้อโกงจำเลยร่วมอันเป็นการแสดงเจตนาลวงจึงเป็นโมฆะ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ถอดถอนนายวิเชียรจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยร่วมแล้วได้มีมติแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจแทนต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2532 กรรมการชุดใหม่ของจำเลยร่วมได้เข้าดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ แต่ปรากฏว่าโจทก์กับนายวิเชียรและบริวารได้เข้ามาขัดขวางและแย่งเป็นรายได้โดยไม่มีอำนาจ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 และที่ 8 ให้การว่า จำเลยที่ 7 และที่ 8เก็บผลประโยชน์ตามที่จำเลยร่วมมอบหมาย ไม่ได้กระทำเป็นการส่วนตัวนอกจากนี้สัญญาสัมปทานเป็นการทำขึ้นโดยฉ้อฉลระหว่างโจทก์กับนายวิเชียน เป็นการแสดงเจตนาลวง จึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทศรีรัตโนภาส จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์สมคบกับนายวิเชียน ศรีรัตโนภาสทำสัญญาสัมปทานขึ้นเพื่อฉ้อโกงจำเลยร่วม จึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และที่ 4ถึงแก่กรรมนางเพิ่มทรัพย์ ศรีรัตโนภาส และนางกัณณิการ์ หิรัญพฤกษ์ ทายาทยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 ตามลำดับ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า สัญญาสัมปทานเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ทำขึ้นโดยการแสดงเจตนาลวง ข้อนี้โจทก์เบิกความเป็นพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์เป็นน้องภริยานายวิเชียร ได้ไปทำงานกับนายวิเชียรที่บริษัทศรีรัตนโนภาสจำกัด ตั้งแต่ปี 2529 ทำทุกอย่างที่นายวิเชียรใช้ให้ทำ เดิมนางเพิ่มทรัพย์เป็นคนยื่นเสียภาษีเงินได้ให้แก่พนักงานหลังจากนางเพิ่มทรัพย์ออกไปแล้ว โจทก์ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้ให้แก่คนงานจนถึงปี 2533 ในการดำเนินการตามสัญญาสัมปทานนั้นโจทก์ตั้งสำนักงานอยู่บ้านเลขที่ 280/82 ซึ่งเป็นคนเลขที่เดียวกับบริษัทจำเลยร่วม แต่อยู่คนละชั้นกัน กล่าวคือ โจทก์อยู่ชั้นลอยส่วนบริษัทฯ อยู่ที่ชั้นสองในวันที่ 10 มกราคม 2531 โจทก์อยู่ในสำนักงานไม่ทราบว่าจำเลยร่วมจะได้มีการประชุมวิสามัญที่ชั้นล่างหรือไม่ แต่เห็นพวกจำเลยอยู่บริเวณโรงรถ เห็นนายวิเชียรที่ตึกนี้โจทก์ทราบภายหลังว่าในวันที่ 10 มกราคม 2531 ได้มีการประชุมและปลดนายวิเชียรออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยร่วมในช่วงเวลาที่มีการประชุมกันที่ชั้นล่าง โจทก์จำไม่ได้ว่าจำได้ลงมาอยู่ใกล้กับที่ประชุมหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าหรือสัมปทานแล้วยังมีตั๋วเก็บเงินสีขาวแบบเก่าเหลืออยู่จึงใช้ตั๋วเก็บเงินแบบเก่าต่อไปอีกสองสัปดาห์ ตั๋วเก็บเงินแบบใหม่ที่จัดพิมพ์ประทับตราลายเซ็นของนายวิเชียรแทนตรงชื่อนางเพิ่มทรัพย์ จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อปี 2527 นายวิเชียรได้ขอกิจการของจำเลยร่วมไปบริหารเอง โดยเสนอค่าตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่ผู้ถือหุ้นไม่ยอมต่อมาปี 2530 นายวิเชียรขอแบ่งทรัพย์สินอีก แต่ตกลงกันไม่ได้หลังจากนั้นนายวิเชียรได้บริหารกิจการของจำเลยร่วมไม่ถูกต้องหลายอย่าง ผู้ถือหุ้นไม่ไว้วางใจและทำหนังสือขอให้นายวิเชียรเรียกประชุมผู้ถือหุ้น แต่นายวิเชียรไม่ยอมเรียกประชุม ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2531 มีการประชุมผู้ถือหุ้นนายวิเชียรมาที่สำนักงานของจำเลยร่วมแต่ไม่ยอมเข้าประชุมผลการประชุมมีมติให้ถอดถอนนายวิเชียรออกจากกรรมการผู้มีอำนาจและตั้งจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจแทน เห็นว่าโจทก์ทำงานอยู่กับนายวิเชียรมาเป็นเวลานานและเป็นน้องภริยานายวิเชียร จึงน่าเชื่อว่า โจทก์ทราบดีว่านายวิเชียรมีปัญหาอยู่กับผู้ถือหุ้นมาก่อน โจทก์เบิกความรับว่าในวันที่ 10 มกราคม 2531 มีการประชุมถอดถอนนายวิเชียรออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยร่วมตามเอกสารหมาย ล.9ซึ่งออกในวันที่ 23 ธันวาคม 2530 ก็มีระเบียบวาระถอดถอนนายวิเชียรจึงน่าเชื่อว่า โจทก์ทราบมาก่อนแล้วว่าจะมีการประชุมถอดถอนนายวิเชียรออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยร่วม สัญญาสัมปทานเอกสารหมาย จ.1ทำขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2531 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ผู้ถือหุ้นขอให้มีการประชุมถอดถอนนายวิเชียร ตามเอกสารหมาย ล.9 และก่อนวันประชุมถอดถอนนายวิเชียรเพียง 9 วันจึงเป็นพิรุธ นอกจากนั้นโจทก์เบิกความรับว่า โจทก์ใช้ตั๋วเก็บเงินมีชื่อจำเลยที่ 8 และนายวิเชียร จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์กับนายวิเชียรทำสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย จ.1 โดยสุจริตตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า เอกสารหมาย จ.1 ทำขึ้นโดยการแสดงเจตนาลวง สมรู้กันระหว่างโจทก์กับนายวิเชียรจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 (มาตรา 155 ที่แก้ไขใหม่)
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานไม่ชอบปรากฏว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่15 ธันวาคม 2535 ศาลชั้นต้นได้กำชับโจทก์ให้เตรียมพยานมาให้พร้อมจะไม่ให้เลื่อนคดีอีกเพราะเสียเวลานานแล้ว เมื่อถึงกำหนดนัดโจทก์ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นรออยู่จนเวลา 13.45 นาฬิกาจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้กำชับโจทก์ให้เตรียมพยานมาให้พร้อมโดยจะไม่ให้เลื่อนคดีอีกต่อไปเพราะเสียเวลามามากแล้วจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องขวนขวายมาศาลให้ทันตามเวลานัด การที่โจทก์ไม่มาศาลให้ทันตามเวลานัด แสดงว่าโจทก์ไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบจึงชอบแล้วฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน

Share