คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1552/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มอบที่ดินมีโฉนดให้เป็นการชำระหนี้เงินกู้นั้น ถือได้ว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้นถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ผู้รับโอนก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ถ้าตนยังครอบครองมาไม่ถึง 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ โดยนางจ้ายมารดายกให้จำเลยเป็นผู้อาศัย จึงขอให้ขับไล่จำเลย
จำเลยต่อสู้ว่า นางจ้ายกู้เงินจำเลยแล้วไม่มีเงินชำระ ได้เอาที่พิพาทตีใช้หนี้
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามจำเลยต่อสู้ จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ต้องการให้จำเลยอยู่ในที่ต่อไป จึงขอให้ศาลบังคับ จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเมื่อที่ดินรายนี้เป็นของนางจ้าย และโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนด ประเด็นก็มีเพียงว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยว่านางจ้ายมอบที่ดินให้จำเลยเป็นการชำระเงินกู้ แต่การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มาตรา 39 พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 127 ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า “มิฉนั้นอย่าให้ถือว่าได้ให้อำนาจอย่างใดแก่กันเป็นอันขาด” ซ้ำในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 ยังได้บัญญัติไว้ว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ จะอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยอายุความตาม มาตรา 1382 จำเลยก็ยังครอบครองไม่ถึง 10 ปี ส่วนในปัญหาเรื่องสิทธิยึดหน่วง จำเลยก็มิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ในศาลชั้นต้นไม่มีประเด็นจะต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share