คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5992/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันให้ถือเอาผลการรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทตามหลักวิชาการเป็นข้อชี้ขาดปัญหา เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการรังวัดทำแผนที่พิพาทโดยถูกต้องด้วยการส่องกล้องและให้ความเห็นว่า “อาคารพิพาทของจำเลยทั้งสองน่าจะอยู่ในที่ดินของโจทก์” ถือได้ว่าผลของการรังวัดสอบเขตสมความประสงค์ของคู่ความและตรงตามคำท้าของโจทก์และจำเลยที่ตกลงกันแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 การที่เจ้าพนักงานที่ดินให้ความเห็นว่า “น่าจะ” นั้นเป็นเพราะความเห็นที่ให้นั้นเกิดจากข้อเท็จจริงที่พบเห็นจากพยานหลักฐานในขณะกำลังทำการรังวัด หาใช่เป็นการไม่ยืนยันมั่นคงแต่อย่างใดไม่ จำเลยจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองพร้อมด้วยบริวารรื้อถอนอาคารพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 5650 และให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนอาคารพร้อมสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาคู่ความตกลงท้ากันว่า หากเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดทำแผนที่พิพาทตามที่คู่ความนำชี้แล้ว ปรากฏว่าอาคารพิพาทปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์จำเลยทั้งสองยอมแพ้ แต่ถ้าหากอาคารพิพาทไม่ได้ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์ โจทก์ยอมแพ้ ต่อมาคู่ความแถลงว่าการรังวัดทำแผนที่พิพาทโดยการนำชี้นั้น ไม่อาจหาข้อยุติได้จึงแถลงร่วมกันว่าขอให้รังวัดทำแผนที่พิพาทใหม่ โดยให้รังวัดเนื้อที่ตามโฉนดที่ดินของโจทก์เปรียบเทียบกับแผนที่กลาง แต่เมื่อจัดทำแผนที่พิพาทแล้วเสร็จ จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับรองรูปแผนที่พิพาท ศาลชั้นต้นสอบถามเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการรังวัดจัดทำแผนที่พิพาทแล้วได้ความว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้จัดทำแผนที่พิพาทโดยการรังวัดด้วยการส่องกล้องตามหลักวิชาการแล้วมีความเห็นว่าอาคารพิพาทน่าจะอยู่ในที่ดินของโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารรื้อถอนอาคารพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5650 ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว (อำเภอเมืองเชียงราย) จังหวัดเชียงราย ของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้สั่งเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดทำแผนที่พิพาท โดยรังวัดตามเนื้อที่โฉนดของโจทก์ให้ปรากฏแนวเขตที่ดินตามหมุดในโฉนดที่ดินของโจทก์ และหากไม่พบหมุดตามแนวเขตที่ดินก็ให้ทำการรังวัดตามหลักวิชาการ หากผลการทำรังวัดปรากฏว่า อาคารพิพาทของจำเลยทั้งสองปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองยอมแพ้ หากปลูกอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์โจทก์ยอมแพ้ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดทำแผนที่พิพาทด้วยวิธีการส่องกล้องถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วมีความเห็นว่าอาคารพิพาทน่าจะอยู่ในที่พิพาทของโจทก์ ดังนี้ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่า คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองตรงตามคำท้าที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้ถือเอาผลการรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทตามหลักวิชาการเป็นข้อชี้ขาด ปัญหาเป็นเด็ดขาดเช่นนี้แล้วเจ้าพนักงานที่ดินก็ได้ดำเนินการรังวัดทำแผนที่พิพาทโดยถูกต้องตามหลักวิชาการด้วยการส่องกล้องและได้ให้ความเห็นว่า “อาคารพิพาทของจำเลยทั้งสองน่าจะอยู่ในที่ดินของโจทก์” ถือได้ว่าผลของการรังวัดสอบเขตสมความประสงค์ของคู่ความและตรงตามคำท้าของโจทก์และจำเลยทั้งสองที่ตกลงกันแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 การที่เจ้าพนักงานที่ดินให้ความเห็นว่า “น่าจะ” นั้นเป็นเพราะความเห็นที่ให้นั้นเกิดจากข้อเท็จจริงที่พบเห็นจากพยานหลักฐานในขณะกำลังทำการรังวัดเท่านั้น หาใช่เป็นการไม่ยืนยันมั่นคงแต่อย่างใดไม่ จำเลยทั้งสองจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share