แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 และ มาตรา 1266 ที่จะต้องชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จสิ้นไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท ถ้าเห็นว่าเมื่อเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ยังไม่พอกับหนี้สิน ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้ออกคำสั่งว่าบริษัทล้มละลายทันที นอกจากนี้ ป.รัษฎากร มาตรา 72 ยังบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการบริษัทมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกบริษัท อีกทั้งมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบ แม้ไม่ปรากฏว่าผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลสั่งว่า บริษัทล้มละลาย แต่ความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีดังกล่าวเป็นการยื่น รายการของบริษัทและนำเงินของบริษัทไปชำระค่าภาษี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นอกจากสิทธิเรียกร้องในเงินที่บริษัทฝากไว้แก่ธนาคารซึ่งโจทก์ได้อายัดและนำมาชำระค่าภาษีบางส่วนแล้ว บริษัทไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกและไม่มีการ แบ่งปันทรัพย์สินของบริษัท คืนแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ชำระบัญชีจึงหาต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีของบริษัทเป็นส่วนตัวไม่
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (2) เป็นการกำหนดว่า ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรหรือไม่ หาใช่บทบัญญัติว่า ผู้ใดจะต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน ๔,๑๔๗,๖๖๙.๗๘ บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนในค่าภาษีอากรจำนวน ๔,๐๖๖,๕๑๑.๗๘ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้มีรายได้ตามการประเมิน จำเลยที่ ๑ มีรายได้หักรายจ่ายแล้วมีผลขาดทุน การประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ ๑ เจ้าพนักงานของโจทก์มิได้แจ้งการประเมินภาษีตามฟ้องแก่จำเลยที่ ๑ โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ จึงไม่ทราบและไม่ได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ การชำระบัญชีของจำเลยที่ ๒ กระทำไปโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินภาษีอากรจำนวน ๔,๑๔๗,๖๖๘.๗๘ บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๘,๐๐๐ บาท ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางโดย คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่าจำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๒ และบุคคลอื่นอีก ๒ คน เป็นกรรมการ กรรมการคนหนึ่งคนใดมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ได้ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๘ เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยที่ ๑ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๔ และ ๒๕๓๕ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ มีรายได้ ทั้งสิ้น ๑๘,๖๗๘,๒๘๐ บาท แต่จำเลยที่ ๑ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยไม่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้และรายจ่าย ถือว่าเป็นการไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๕ จำเลยที่ ๑ มีรายได้ทั้งสิ้น ๑๙,๒๖๓,๖๑๐ บาท แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินเรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ ๕ ของยอดรายได้ก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา ๗๑ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ๒๕๓๔ เป็นเงิน ๑,๘๓๑,๘๒๘ บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๕ เป็นเงิน ๑,๘๒๘,๔๐๔ บาท เมื่อนำกรณีตามการประเมินดังกล่าวมาคำนวณย้อนกลับเพื่อหากำไรสุทธิพบว่า จำเลยที่ ๑ ประมาณการกำไรสุทธิตามแบบการประมาณการครึ่งปีทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวขาดไปเกินกว่าร้อยละ ๒๕ ของกำไรสุทธิ ตามผลการตรวจสอบ โดยไม่มีเหตุอันสมควรวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้จำเลยที่ ๑ ชำระภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น ๔,๓๑๔,๘๓๔ บาท จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ โจทก์ได้อายัดสิทธิเรียกร้องในเงินที่จำเลยที่ ๑ ฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาระนอง จำนวน ๑๙๓,๓๒๒.๒๒ บาท และได้นำเงินนั้นมาชำระค่าภาษีแล้วบางส่วน ต่อมาวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๑ จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเลิกบริษัท โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ชำระบัญชี และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๑ นอกจากสิทธิเรียกร้องในเงินฝากของจำเลยที่ ๑ ที่โจทก์อายัดไว้แล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่มีทรัพย์สินอื่นจึงไม่มีการแบ่งปันทรัพย์สินคืนแก่ผู้ถือหุ้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า จำเลยที่ ๒ รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๑ ยังมิได้ชำระหนี้ค่าภาษีให้ครบถ้วน กลับไป จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีจำเลยที่ ๑ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วม รับผิดชำระหนี้ค่าภาษีแก่โจทก์ พิเคราะห์แล้วจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๕๐ และมาตรา ๑๒๖๖ ที่จะต้องชำระสะสางการงาน กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทจำเลยที่ ๑ ให้เสร็จสิ้นไป ถ้าจำเลยที่ ๒ พิจารณาเห็นว่าเมื่อเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สิน จำเลยที่ ๒ ต้องร้องขอต่อศาลทันทีเพื่อให้ออกคำสั่งว่าจำเลยที่ ๑ ล้มละลาย นอกจากนี้ประมวลรัษฎากรมาตรา ๗๒ ยังบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการบริษัทมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกบริษัทภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกบริษัท อีกทั้งผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการบริษัทมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบ เห็นว่า แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ร้องขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ ๑ ล้มละลายแต่ความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีดังกล่าว เป็นการยื่นรายการของบริษัทและนำเงินของบริษัทไปชำระค่าภาษี จำเลยที่ ๒ จึงหารับผิดในหนี้ค่าภาษีของจำเลยที่ ๑ เป็นส่วนตัวไม่ อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อหลังว่า จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีในมูลสัญญาจัดตั้งบริษัทซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความรับผิดในหนี้ค่าภาษีของจำเลยที่ ๑ คดีของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิ เรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๗ (๒) จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดจำเลยที่ ๑ ในหนี้ค่าภาษีอากรต่อโจทก์ เห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดว่า ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร หาใช่บทบัญญัติว่าผู้ใดจะต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ นั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๘,๐๐๐ บาท แทนจำเลยที่ ๒