คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2632-2654/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานก่อนวันจ่ายเงินเดือนทางราชการ 1 วัน ตามคำสั่ง เรื่อง ระเบียบการจ่ายเงินเดือนพนักงานธนาคารออมสิน ต่อมาจำเลยมีคำสั่งใหม่ ยกเลิกคำสั่งเดิมและกำหนดให้จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานในวันที่ 25 ของทุกเดือน เงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานในวันที่ 25 ของแต่ละเดือน จึงเป็นเงินเดือนค่าจ้างสำหรับเดือนนั้น ๆ ทั้งเดือน ไม่ใช่เงินเดือนค่าจ้างเพียงแค่วันที่ 25 ของแต่ละเดือน การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานในปีที่ครบเกษียณอายุของจำเลยที่กำหนดว่า “การเลื่อนขั้นเงินเดือนตามคำสั่งนี้ให้ขึ้นให้ในวันที่ 30 กันยายน ของปีที่พนักงานผู้นั้นครบเกษียณอายุ โดยให้อยู่ในเงื่อนไขที่จะไม่มีการจ่ายเงินเดือนที่เพิ่มให้ และให้นำไปใช้เฉพาะการคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญเท่านั้น” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานของจำเลยที่ต้องเกษียณอายุได้รับการพิจารณาความดีความชอบในการเลื่อนขั้นเงินเดือนเพียงเพื่อประโยชน์ในอันที่จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญเพิ่มขึ้น โดยให้นำเงินเดือนที่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นแล้วมาเป็นเกณฑ์คำนวณบำเหน็จหรือบำนาญเท่านั้น เงินที่ได้รับหลังจาก เกษียณอายุแล้วเป็นการจ่ายตอบแทนความชอบที่ได้ปฏิบัติงานมาจนครบเกษียณอายุ ถือไม่ได้ว่าเป็นเงินเดือนค่าจ้าง เพราะมิใช่จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงาน การที่โจทก์ฟ้องโดยถือเอาอัตราเงินเดือนที่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ในปีที่ครบเกษียณอายุ มาคำนวณเป็นเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานจึงไม่ถูกต้อง โดยต้องคิดคำนวณจากอัตราเงินเดือนที่ได้รับจริงเมื่อวันที่ 25 กันยายน ดังกล่าว

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๒๓ ตามลำดับ
โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตอบแทนความชอบในการทำงานส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามตามจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ สำหรับโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๑๖ และนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ สำหรับโจทก์ที่ ๑๗ ถึงที่ ๒๓ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งยี่สิบสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสามเคยเป็นพนักงานของจำเลยและพ้นจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุ อัตราเงินเดือนที่จำเลยเพิ่มให้อีก ๑ ขั้น ณ วันที่ ๓๐ กันยายน นั้น มิได้มีการจ่ายเงินเดือนให้แก่โจทก์จริง แต่ประการใด ฉะนั้นเงินตอบแทนความชอบในการทำงานของโจทก์ทั้งยี่สิบสามที่จำเลยจ่ายให้โดยคำนวณจากอัตรา เงินเดือนสุดท้ายที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์จริงในวันที่ ๒๕ กันยายน จำนวน ๑๘๐ วัน จึงถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์ทั้งยี่สิบสามตามความในระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๔๗ คือ เงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามในวันที่ ๒๕ กันยายน ของปีที่แต่ละคนเกษียณอายุ ไม่ใช่เงินเดือนที่จำเลย เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามคนละ ๑ ขั้น ในวันที่ ๓๐ กันยายน ตามคำสั่ง ๔๗/๒๕๒๓ จำเลยจึงจ่ายเงินตอบแทน ความชอบในการทำงานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามถูกต้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบสามว่า เงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๔๗ ของโจทก์ทั้งยี่สิบสามคือเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามในวันที่ ๒๕ กันยายน ของปีที่โจทก์ แต่ละคนเกษียณอายุ หรือเงินเดือนที่จำเลยเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามคนละ ๑ ขั้น ในวันที่ ๓๐ กันยายน ตามคำสั่ง ๔๗/๒๕๒๓ เห็นว่า เดิมจำเลยจ่ายเงินเดือนพนักงานก่อนวันจ่ายเงินเดือนทางราชการ ๑ วัน ตามคำสั่งที่ ๔/๒๕๐๖ เรื่อง ระเบียบการจ่ายเงินเดือนพนักงานธนาคารออมสิน ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งดังกล่าวและกำหนดให้จ่ายเงินเดือนพนักงานในวันที่ ๒๕ ของทุกเดือน เงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานในวันที่ ๒๕ ของแต่ละเดือน จึงเป็นเงินเดือนค่าจ้างสำหรับเดือนนั้น ๆ ทั้งเดือน ไม่ใช่เงินเดือนค่าจ้างเพียงวันที่ ๒๕ ของแต่ละเดือน การที่จำเลยเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ โจทก์ทั้งยี่สิบสามคนละ ๑ ขั้น ตามคำสั่ง ๔๗/๒๕๒๓ เรื่อง การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานในปีที่ครบเกษียณอายุ เป็นการเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่พนักงานในปีที่ครบเกษียณอายุเป็นกรณีพิเศษ และคำสั่งดังกล่าวกำหนดว่า “การเลื่อนขั้นเงินเดือนตามคำสั่งนี้ให้ขึ้นให้ในวันที่ ๓๐ กันยายน ของปีที่พนักงานผู้นั้นครบเกษียณอายุ โดยให้อยู่ในเงื่อนไขที่จะไม่มีการจ่ายเงินเดือนที่เพิ่มให้ และให้นำไปใช้เฉพาะการคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญเท่านั้น” จึงเห็นได้ว่าคำสั่งของจำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานของจำเลยที่ต้องเกษียณอายุได้รับการพิจารณาความดีความชอบในการเลื่อนขั้นเงินเดือนเพียงเพื่อประโยชน์ในอันที่จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญเท่านั้น เงินเดือนที่ได้เลื่อนจึงเป็นเพียงสิทธิ ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงิน จึงถือ ไม่ได้ว่าเป็นเงินเดือนค่าจ้าง เพราะคำว่า “เงินเดือนค่าจ้าง” ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๓ “หมายความว่า เงินหรือเงินและสิ่งของที่รัฐวิสาหกิจจ่ายให้แก่พนักงานเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน” ซึ่งคำว่า เงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จะนำมาคำนวณเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของ สิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๔๗ มุ่งหมายถึงเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่พนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับตามความเป็นจริง ดังนั้น ตัวเลขของอัตราเงินเดือนที่จำเลยได้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามแล้ว แต่ไม่ได้รับเงินจริง เพียงแต่นำไปใช้คำนวณบำเหน็จหรือบำนาญได้เมื่อเกษียณอายุเท่านั้นจึงไม่ใช่เงินเดือนค่าจ้างอัตรา สุดท้ายที่จะนำมาคำนวณเงินตอบแทนความชอบในการทำงาน ที่จำเลยจ่ายเงินตอบแทนความชอบในการทำงานให้ โจทก์ทั้งยี่สิบสามโดยคิดคำนวณจากอัตราเงินเดือนค่าจ้างที่ได้รับจริงเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ดังกล่าว จึงเป็นการจ่ายที่ ถูกต้องครบถ้วนแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share