แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.2488 มาตรา 8 เพียงแต่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะจัดให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดหรือไม่ ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ และให้อำนาจคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมิได้กำหนดว่าใครเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ต่อมาจึงมีพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 มาตรา 8 บัญญัติให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมัสยิด และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ออกระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2492 กฎหมายและระเบียบดังกล่าวนี้ออกต่อเนื่องประกอบกันให้ปฏิบัติการแต่งตั้งได้โดยสมบูรณ์หาได้ขัดแย้งกันหรือยกเลิกข้อใดโดยปริยายไม่ ดังนั้น การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้องปฏิบัติโดยครบถ้วน จึงจะเป็นการแต่งตั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหามีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดได้เองโดยพลการไม่
เมื่อปรากฏว่าการแต่งตั้งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าว จึงไม่มีผลให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโดยชอบ กรรมการไม่มีอำนาจกระทำการแทนมัสยิด ผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยทั้งเจ็ดเป็นกรรมการมัสยิดโจทก์ ต่อมาคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครสั่งถอดถอนออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ จำเลยทั้งเจ็ดไม่ยอมส่งมอบทรัพย์สินของโจทก์ให้แก่กรรมการชุดใหม่
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า กรรมการชุดใหม่มิได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจมอบให้ฟ้องคดี ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างอ้างเอกสารเป็นพยาน ไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรรมการฝ่ายโจทก์ไม่เป็นกรรมการประจำมัสยิด ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การถอดถอนและแต่งตั้งคณะกรรมการประจำมัสยิดชอบด้วยกฎหมาย พิพากษากลับ ให้จำเลยส่งมอบอาคารมัสยิดแก่คณะกรรมการของโจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.๒๔๘๘ มาตรา ๘ เพียงแต่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใช้ดุลพินิจว่า สมควรจะจัดให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดหรือไม่ ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ และให้อำนาจคระกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ต่อมาจึงมีพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๘ บัญญัติให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งถอดถอนกรรมการมัสยิด แต่ก็ยังไม่มีการออกระเบียบการแต่งตั้งถอดถอน จน พ.ศ.๒๔๙๒ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.๒๔๘๘ ออกระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิดขึ้น กฎหมายและระเบียบดังกล่าวนี้ออกต่อเนื่องประกอบกันให้ปฏิบัติการแต่งตั้งได้โดยสมบูรณ์ หาได้ขัดแย้งกันหรือยกเลิกข้อใดโดยปริยายไม่ ดังนั้น การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้องปฏิบัติโดยครบถ้วน จึงจะเป็นการแต่งตั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหามีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดได้เองโดยพลการไม่ เมื่อปรากฏว่าการแต่งตั้งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดชุดใหม่ของโจกท์มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าว จึงไม่มีผลให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโจทก์โดยชอบ กรรมการไม่มีอำนาจกระทำการแทนมัสยิดโจทก์ ผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์