คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาทจึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดจำเลยชอบที่จะอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านตามประเด็นดังกล่าวหรืออุทธรณ์ฎีกาว่าจำเลยอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายตามความใน พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14แต่จำเลยกลับอุทธรณ์ฎีกาว่าได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องก่อนเช็คถึงกำหนด การที่โจทก์ยอมรับเช็คดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ยอมขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ให้จำเลยแล้วและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ฟ้อง จำเลยตกเป็นลูกหนี้ผู้ใดอีก ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นที่จำเลยฎีกาก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพราะแม้จำเลยจะเป็นหนี้โจทก์เพียงคนเดียว แต่เมื่อหนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท และหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 9 ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ล้มละลาย ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า จำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้โจทก์ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาทจริงหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์ของจำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 และจำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านตามประเด็นแห่งคดีดังกล่าว หรืออุทธรณ์ฎีกาว่าจำเลยอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายตามความในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 แต่คดีนี้จำเลยกลับอุทธรณ์ฎีกาว่า หนี้สินที่ค้างชำระจำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องก่อนเช็คถึงกำหนดจะถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ได้ เพราะการที่โจทก์ยอมรับเช็คดังกล่าวย่อมถือได้ว่าโจทก์ยอมขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ให้จำเลยแล้ว และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยตกเป็นลูกหนี้ผู้ใดอีกศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นที่จำเลยฎีกา ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะแม้จำเลยจะเป็นหนี้โจทก์เพียงคนเดียว แต่เมื่อหนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาทและหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยข้ออื่นก็ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share