แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมซื้อบ้าน เลขที่ 308 จากการขายทอดตลาด จำเลยเองก็ทราบ เมื่อจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 308 ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านดังกล่าว การที่จำเลยบอกโจทก์ร่วมว่าบ้านที่จำเลยอาศัยอยู่ไม่ใช่บ้านเลขที่ 308 แต่เป็น บ้านเลขที่ 121 ของส. นั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ร่วมรื้อถอนบ้านเลขที่ 308 เพื่อที่จำเลยจะได้รับประโยชน์ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเบียดบังบ้านเลขที่ 308 เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 โจทก์ร่วมจะไปรื้อถอนบ้านครั้งแรกวันที่ 28 เมษายน 2527จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตั้งแต่วันนั้น แต่โจทก์ร่วมเพิ่งมาร้องทุกข์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 คดีจึงขาดอายุความ เมื่อคดีขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมตาม มาตรา 43
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ครอบครองบ้านไม้ 1 หลัง ราคา 16,000 บาทของนายสมพันธ์ ศรีทองสุก ผู้เสียหาย และจำเลยได้เบียดบังเอาบ้านหลังดังกล่าวเป็นของจำเลยโดยทุจริตด้วยการรื้อบ้านนำไม้ไปขายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนบ้านหรือใช้ราคา 16,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ให้จำเลยชดใช้ค่าบ้าน 16,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยบอกโจทก์ร่วมว่า บ้านเลขที่ 308 ของจำเลย เป็นบ้านเลขที่ 121 ของนายสวนนั้น เป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์ร่วมซื้อบ้านเลขที่ 308 จากการขายทอดตลาดนี้ จำเลยเองก็ทราบดังจะเห็นได้จากที่ให้การยอมรับไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 802/2527 ของศาลจังหวัดอุทัยธานี เมื่อจำเลยอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 308 ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านดังกล่าว การที่จำเลยบอกโจทก์ร่วมว่าบ้านที่จำเลยอยู่อาศัยไม่ใช่บ้านเลขที่ 308 แต่เป็นบ้านเลขที่ 121ของนายสวยนั้นเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ร่วมรื้อถอนบ้านเลขที่ 308 เพื่อที่จำเลยจะได้รับประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่ความจริงโจทก์ร่วมมีสิทธิรื้อบ้านเลขที่ 308 ที่จำเลยอยู่ด้วย การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเบียดบังบ้านเลขที่ 308 เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ตั้งแต่วันนั้น ซึ่งตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมในคดีหมายเลขแดงที่ 802/2527 ของศาลจังหวัดอุดรธานีฟังได้ว่าโจทก์ร่วมจะไปรื้อถอนบ้านเลขที่ 308 ครั้งแรกเมื่อวันที่28 เมษายน 2527 จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2527 คดีความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดอันยอมความกันได้ ซึ่งหากผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ตามข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยมาต้องถือโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกที่จำเลยกระทำความผิด ทั้งโจทก์ร่วมได้รู้ถึงความผิดที่จำเลยกระทำและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2527โจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายจึงต้องร้องทุกข์ภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2527 ซึ่งคำนวณแล้วต้องร้องทุกข์ภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2527 แต่โจทก์ร่วมเพิ่งมาร้องทุกข์ เมื่อวันที่13 สิงหาคม 2530 ดังคำเบิกความของพันตำรวจตรีฐาจุฑา และบันทึกมอบคดีความผิดอันยอมความได้เอกสารหมาย จ.1 เช่นนี้ คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความ และเมื่อคดีขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43คำขอส่วนแพ่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินก็ย่อมตกไปด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน