คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่เจ้าของที่ดินเดิมได้ปลูกต้นพู่ระหงไว้เป็นแนวเขตที่ของตนโดยเว้นที่นอกเขตรั้วพู่ระหงไว้ให้เป็นทางคนเดินและประชาชนได้ใช้ทางสายนี้ติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยเจ้าของที่ดินมิได้หวงห้ามหรือสงวนสิทธิไว้แต่ประการใดนั้น แสดงว่าได้อุทิศที่พิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้วโดยปริยาย และการที่จะเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือทางหลวงนั้น ก็หาจำต้องมีทะเบียนหรือมีหลักฐานของทางราชการสงวนสิทธิไว้แต่ประการใดไม่
ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา การที่จำเลยโอนที่พิพาทอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ให้บุคคลอื่น จึงใช้บังคับไม่ได้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะบังคับคดีให้จำเลยรื้อถอนกำแพงและสิ่งปลูกสร้างออกจากทางสาธารณประโยชน์ได้
ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา122 กำหนดให้กรมการอำเภอมีหน้าที่คอยตรวจตรารักษาที่อันเป็นสาธารณประโยชน์มิให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัว ต่อมามี พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 40 วรรคสาม ได้ให้อำนาจหน้าที่ของกรมการอำเภอโอนไปเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอ และตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ได้บัญญัติให้หัวหน้าเขตมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายใด ๆ บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอและหัวหน้าส่วนอำเภอ โจทก์ในฐานะหัวหน้าเขตบางกอกน้อยผู้มีหน้าที่ตรวจตรารักษาทางสาธารณประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนกำแพงและสิ่งปลูกสร้างออกจากทางสาธารณประโยชน์ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ออกไปให้พ้นแนวเขตที่ดินโฉนดที่ 4627 และ 4649 ตามแนวเส้นสีแดงทึบในแผนที่พิพาทด้านละ 1 เมตร ถ้าจำเลยไม่รื้อถอน ก็ให้โจทก์รื้อถอนเองได้ โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้อง ให้จำเลยรื้อถอนกำแพงและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ออกไปจากแนวเขตทางสาธารณประโยชน์กว้าง 2.60 เมตร ภายในเส้นสีแดงทึบตามแผนที่พิพาท จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “การที่เจ้าของที่ดินเดิมทั้งสองโฉนดได้ปลูกต้นพู่ระหงไว้เป็นแนวเขตที่ของตน โดยเว้นที่นอกเขตรั้วพู่ระหงไว้ให้เป็นทางคนเดินและประชาชนได้ใช้เส้นทางสายนี้เดินติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยเจ้าของที่ดินมิได้หวงห้ามหรือสงวนสิทธิไว้แต่ประการใดนั้น แสดงว่าได้อุทิศที่พิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้วโดยปริยาย และการที่จะเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือทางหลวงนั้นก็หาจำต้องมีทะเบียนหรือมีหลักฐานของทางราชการสงวนสิทธิไว้แต่ประการใดไม่ฉะนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าทางพิพาทได้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้วจริงดังฟ้องโจทก์ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1776/2593 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดพังงา โจทก์ นายจุ้ยเกียรติ สังกรณ์ จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 663/2521 ระหว่าง พันโทชาติเฉลิม เลขวณิชธรรมวิทักษ์โจทก์ นางศรีสว่าง เฮงพัฒน์ กับพวก จำเลย)

ส่วนปัญหาที่ว่าทางพิพาทมีความกว้างเท่าใดนั้น จากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว ประกอบกับภาพถ่ายทางพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีเรืออากาศเอกสวิก ดวงดี และนายเดชา วาทบัณฑิศกุล เบิกความสนับสนุนปรากฏว่า ในระหว่างแนวรั้วพู่ระหงสองข้างทางนั้น คนสองคนกางแขนต่อกันได้ประมาณ 1 วา กับ 1 ช่วงแขน ซึ่งประมาณได้ว่ากว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่ทางพิพาทบางตอนแคบกว่านี้ก็มี นายเดชา วาทบัณฑิตกุล ผู้ไปวัดตรวจสอบและทำแผนที่สังเขปตามเอกสารหมาย จ.4 จึงบันทึกไว้ว่าทางกว้างประมาณ 2.60 เมตรโดยเฉลี่ย ส่วนพยานฝ่ายจำเลยคงมีแต่นายสุจริต กลั่นสุคนธ์ เพียงปากเดียวที่เบิกความว่า ที่พิพาทส่วนที่มีต้นพู่ระหงสองข้างนั้นมีความกว้างประมาณ 1.50 เมตร ซึ่งเป็นการประมาณเอาโดยไม่ได้วัด จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทางพิพาทมีความกว้างประมาณ 2.60 เมตรจริงดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์

ประเด็นข้อต่อไปจำเลยฎีกาว่า ก่อนจำเลยถูกฟ้องจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว จึงบังคับคดีแก่จำเลยไม่ได้ ในประเด็นข้อนี้เห็นว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยรื้อถอนกำแพงและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ออกไปเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ และจำเลยเป็นผู้ก่อสร้างกำแพงรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์เข้ามาโดยมิชอบ ทั้งผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยก็มิได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์และกำแพงดังกล่าวเพราะทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ตามเอกสารหมาย ล.2, ล.4 และ ล.6 ก็ระบุไว้ว่าขายที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง ทั้งที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยเว้นไว้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามโฉนดที่ดินก็ยังเป็นชื่อของจำเลยอยู่ ดังนี้จึงย่อมบังคับคดีแก่จำเลยได้

ประเด็นที่จะต้อง วินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์ที่ 2 เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ดูแลในฐานะบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนภายในเขต และกฎหมายมิได้กำหนดให้เขตเป็นนิติบุคคล จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 บัญญัติว่า ที่อันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นหน้าที่ของกรรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตรารักษาอย่าให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว ต่อมามีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 401 วรรคสาม ได้ให้อำนาจหน้าที่ของกรรมการอำเภอโอนไปเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอ และตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ได้บัญญัติให้หัวหน้าเขตมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายใด ๆ บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอและหัวหน้าส่วนอำเภอ ฉะนั้น โจทก์ที่ 2 ในฐานะหัวหน้าเขตบางกอกน้อยผู้มีหน้าที่ตรวจตรารักษาทางสาธารณประโยชน์ตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 287/2517 ระหว่างนายอำเภอยานนาวา โจทก์ นายจกลิ่น แซ่เตียหรือแซ่เจีย จำเลย”

พิพากษายืน

Share