แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดเวลาจ้างที่แน่นอน และมีข้อความกำหนดวิธีการที่จะต่อสัญญาหรือเลิกสัญญาไว้ว่า ผู้ว่าจ้างจะได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับจ้างทราบ เมื่อนายจ้างต่ออายุสัญญาออกไป จึงเป็นการกำหนดระยะเวลาในการจ้างขึ้นใหม่ ไม่ใช่เป็นการขยายระยะเวลาในสัญญาเดิม จึงไม่กระทบกระเทือนต่อกำหนดเวลาในสัญญาเดิมที่ระบุจำนวนปีแน่นอนอยู่แล้ว ส่วนการเลิกสัญญา ซึ่งอาจมีขึ้นก็เป็นเรื่องที่จะตกลงกันใหม่ยกเลิกกำหนดเวลาในสัญญาเดิมเสีย หาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในสัญญาจ้างฉบับเดิมไม่ สำหรับข้อความตามสัญญาที่ว่าถ้าไม่มีการแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับจ้างทราบ ให้ถือว่าการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างตามสัญญานั้นมีไว้เพื่อเป็นการลดหน้าที่ของผู้ว่าจ้างในกรณีไม่ต่ออายุสัญญาเท่านั้น ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงความแน่นอนของระยะเวลาตามสัญญาจ้างที่มีอยู่แล้ว
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำมีกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 10พฤษภาคม 2516 ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2518 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำให้ทำงานในตำแหน่งเดิมมีกำหนด 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2518 ครั้นวันที่ 30 มกราคม 2519 ซึ่งเป็นเวลาก่อนครบอายุสัญญาจ้างฉบับที่ 2 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า เมื่อครบอายุสัญญาจ้างแล้วจำเลยจะไม่ต่ออายุสัญญาไปอีก ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าสัญญาจ้างทั้งสองฉบับเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอนหรือไม่ พิเคราะห์สัญญาข้อ 4 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 แล้ว มีข้อความทำนองเดียวกันว่า “ก่อนครบอายุสัญญานี้สามเดือน หากผู้จ้างต้องการจะต่ออายุสัญญาไปอีกเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเป็นระยะเวลาเท่าใด ผู้ว่าจ้างจะได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับจ้างทราบ (ถ้าไม่มีการแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับจ้างทราบ ให้ถือว่าการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างเพียง 1 ปีตามข้อ 1) และในกรณีที่ผู้รับจ้างหรือผู้ว่าจ้างประสงค์จะเลิกสัญญา จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้แต่ละฝ่ายทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเดือนเช่นเดียวกัน” ข้อความภายในวงเล็บปรากฏอยู่ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แต่ไม่ปรากฏในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ศาลฎีกาพิเคราะห์เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว เห็นว่า กำหนดเวลา 2 ปี ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ก็ดี กำหนดเวลาปี 1 ปี ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ก็ดี เป็นกำหนดเวลาที่แน่นอน ส่วนข้อความที่ว่าหากผู้ว่าจ้างจะต่ออายุสัญญาไปอีกเป็นเวลาเท่าใด หรือในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเดือนนั้น เป็นวิธีการที่จะต่อสัญญาหรือเลิกสัญญาเท่านั้นการที่นายจ้างต่ออายุสัญญาออกไปเป็นการกำหนดระยะเวลาในการจ้างขึ้นใหม่ ไม่ใช่เป็นการขยายระยะเวลาในสัญญาฉบับเดิม จึงไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อกำหนดเวลาในสัญญาเดิมที่ระบุจำนวนปีแน่นอนอยู่แล้ว ส่วนการเลิกสัญญาซึ่งอาจมีขึ้นเพราะเหตุการณ์ในอนาคต ก็เป็นเรื่องที่นายจ้างกับลูกจ้างจะทำความตกลงกันใหม่ยกเลิกกำหนดเวลาในสัญญาเดิมเสียหาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในสัญญาจ้างฉบับเดิมแต่ประการใดไม่สำหรับข้อความในวงเล็บตามสัญญาท้ายฟ้องหมายเลข 2 นั้น มีไว้เพื่อเป็นการลดหน้าที่ของผู้ว่าจ้างในกรณีไม่ต่ออายุสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงความแน่นอนของระยะเวลาตามสัญญาจ้างที่มีอยู่แล้วทั้งข้อเท็จจริงในคดีก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทำสัญญาจ้างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชย ศาลฎีกาจึงเห็นว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลย มีกำหนดระยะเวลาจ้างแน่นอน เมื่อจำเลยไม่จ้างโจทก์ต่อไปภายหลังระยะเวลาการจ้างตามสัญญาจ้างฉบับที่ 2 สิ้นสุดลง จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ส่วนหนังสือของผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงาน ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 เป็นเพียงความเห็นของเจ้าหน้าที่ในกรมแรงงานเท่านั้นไม่ใช่หลักกฎหมายคำพิพากษาฎีกาที่ 1601/2523 ที่โจทก์อ้างรูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้”
พิพากษายืน