คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5988/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่จะถูกส่งตัวเข้าไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพคือบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ไม่ว่าผู้นั้นจะให้ความยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้รับการตรวจพิสูจน์เป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้น ต้องจัดให้มีแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 จำเลยเป็นผู้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวให้รับการบำบัดฟื้นฟูในสถานพยาบาลใกล้บ้านแบบผู้ป่วยนอก และให้รายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามโปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติ การที่จำเลยไม่ให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูและขาดการรายงานตัวโดยหลบหนีไปไม่สามารถติดตามตัวได้ เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับตัวจำเลยกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผน และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 โดยในมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีแก่ผู้รับการฟื้นฟู หากผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ ฉะนั้นเมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยอง ด่วนมีคำสั่งว่า “ปัจจุบันไม่ทราบที่อยู่อาศัยที่ชัดเจนพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามตัวมาเข้ารับการฟื้นฟู และให้ส่งตัวคืนพนักงานสอบสวนตามมาตรา 33 วรรคสอง จึงเป็นการไม่ชอบตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน พิเคราะห์แล้วจำเลยได้รับโอกาสเข้าฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแต่จำเลยกลับไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหาได้มีความสำนึกหรือเกรงกลัวต่อกฎหมาย และพิษภัยของยาเสพติดไม่ จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดวินิจฉัยว่า เมื่อพนักงานสอบสวนส่งตัวจำเลยไปฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูให้ยุติการฟื้นฟูเองเนื่องจากจำเลยไม่ให้ความร่วมมือในกระบวนการบำบัดแล้วส่งให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการดำเนินคดีนั้นไม่ชอบ เพราะตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูต้องปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูให้ครบขั้นตอนและมีความเห็นตามมาตรา 33 เพราะเป็นระบบบังคับบำบัดรักษา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ก่อนจำเลยถูกฟ้องเป็นคดีนี้ในระหว่างสอบสวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อทำการตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติด วันที่ 4 กันยายน 2552 จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปในระหว่างการตรวจพิสูจน์ ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2553 คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยอง มีคำสั่งที่ 876/2553 แจ้งว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาเข้ารับการฟื้นฟู ได้ ผลการบำบัดฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงให้ยุติแผนการฟื้นฟู และให้ส่งตัวคืนพนักงานสอบสวนตามมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้ในคดีอื่น พนักงานสอบสวนจึงนำตัวจำเลยส่งพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟูคือบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา 22 จำเลยคดีนี้เป็นผู้เข้ารับการฟื้นฟูตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยอง ที่ 700/2552 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2552 โดยให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูแบบไม่ควบคุมตัวเป็นเวลา 6 เดือน ให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในสถานพยาบาลใกล้บ้านแบบผู้ป่วยนอกเป็นเวลา 4 เดือน ระหว่างนั้นให้รายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามโปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดระยองเดือนละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน และทำงานบริการสังคมจำนวน 30 ชั่วโมง ปรากฏว่าระหว่างการบำบัด จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ไม่ให้ความร่วมมือในการฟื้นฟู ไม่ยอมเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลบ้านฉาง ขาดการรายงานตัว 3 ครั้ง และยังไม่ได้ทำงานบริการสังคมจำนวน 24 ชั่วโมง คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยองได้ขยายระยะเวลาฟื้นฟูมาแล้ว 1 ครั้ง เป็นเวลา 180 วัน เจ้าพนักงานไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูได้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยอง จึงมีคำสั่งที่ 876/2553 ว่าผลการบำบัดฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจให้ยุติแผนการฟื้นฟู และให้ส่งตัวจำเลยคืนพนักงานสอบสวนตามมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไข ไม่ยอมเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลบ้านฉาง ขาดการรายงานตัว 3 ครั้ง และขาดงานบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง อีกทั้งคณะอนุกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยองได้ขยายระยะเวลาการฟื้นฟูอีก 1 ครั้ง เป็นเวลา 180 วัน แล้วจำเลยก็ยังไม่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูให้ครบถ้วนตามแผน จำเลยหลบหนีไปไม่สามารถติดตามตัวได้และพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ทราบที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับตัวจำเลยกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผน และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่ยังไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยองได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แต่ประการใด ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยอง ด่วนมีคำสั่งที่ 876/2553 ว่า “…ปัจจุบันไม่ทราบที่อยู่อาศัยที่ชัดเจนพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถติดตามตัวมาเข้ารับการฟื้นฟูได้ ผลการบำบัดฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจจึงให้ยุติแผนการฟื้นฟู และให้ส่งตัวคืนพนักงานสอบสวนตามมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545” จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟู หากผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้วแต่ผลการฟื้นฟู ยังไม่เป็นที่พอใจ ฉะนั้น เมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share