คำวินิจฉัยที่ 3/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

สัญญาที่หน่วยงานทางปกครองว่าจ้างเอกชนให้ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งจำเป็นในการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๕๘

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดตลิ่งชัน
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดตลิ่งชันโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ บริษัท ๑๗ เจตต์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง กองทัพเรือ จำเลย ต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๕๙/๒๕๕๖ ความว่า จำเลยว่าจ้างบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๑๘/งป. ๒๕๕๔ ต่อมาบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้รับจ้างทำงานโครงการก่อสร้างดังกล่าว เต็มตามจำนวนเงิน ปริมาณงาน และขอบเขตความรับผิดชอบตามสัญญาหลัก โดยทำเป็นสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเลขที่ ACP.BD – ๐๐๑/๒๕๕๔ และได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างทั้งหมดที่พึงได้รับจากจำเลยให้แก่โจทก์ พร้อมบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างทั้งหมดไปยังจำเลยและได้รับความยินยอมจากจำเลยแล้ว โจทก์ก่อสร้างและส่งงวดงานตามสัญญาให้แก่จำเลยแล้วทั้งสิ้น ๗ งวด กับทั้งได้รับเงินค่าจ้างจากจำเลยตามงวดงานครบถ้วนแล้วทั้งสิ้น ๗ งวด แต่จำเลยไม่ชำระค่างานในงวดที่ ๘ ให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๗,๙๕๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยว่าจ้างบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก โดยต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ จำนวนทั้งหมด ๙๐ งวด การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและคิดค่าเสียหาย และค่าปรับ การที่บริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าจ้างโจทก์เข้าทำการก่อสร้าง จำเลยไม่ทราบ ไม่รู้เห็น และไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย บริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงต้องรับผิดในความประมาทเลินเล่อของโจทก์ทุกประการ แม้จำเลยจะยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ตามงวดงานในงวดที่ ๑ ถึงที่ ๗ ก็เป็นไปตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่เป็นเหตุให้บริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญา โดยยังต้องรับผิดในค่าเสียหายและค่าปรับ จำเลยจึงไม่สามารถจ่ายค่างวดงานในงวดที่ ๘ ให้แก่โจทก์ได้
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดตลิ่งชันพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยงานทางปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สัญญาก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานอู่ตะเภาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ที่กองบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ ระหว่างจำเลยกับบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่จัดให้ทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือสัญญาที่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองให้โจทก์ในคดีนี้เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง อีกทั้งสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ เป็นสัญญาจ้างช่วง กับหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ ระบุโอนสิทธิการรับเงินไว้ด้วย อีกทั้งโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า บริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ตกลงว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้รับจ้างทำงานโครงการก่อสร้างที่พักผู้โดยสาร โจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานแห่งชาติอู่ตะเภา โดยโจทก์ได้ส่งงวดงานตามสัญญาแก่จำเลยแล้วทั้งสิ้น ๗ งวดงาน โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยโดยตรงครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามสัญญาในงวดที่ ๘ เป็นเงินค่าจ้างทั้งสิ้น ๗,๙๕๖,๐๐๐ บาท และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจรับงานเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๖ โจทก์ได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามสัญญาภายในระยะเวลา ๑๕ วัน นับแต่พิจารณาอนุมัติ แต่จำเลยไม่ชำระค่าจ้างงานงวดที่ ๘ โจทก์ได้ติดตามทวงถามจากกรมช่างโยธาทหารเรือ แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงเป็นสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลย อันเป็นสัญญาแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นส่วนราชการในสังกัดกองทัพไทย ตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้ตกลงกับบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนายความสะดวก ที่กองบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ จึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่ง ซึ่งได้แก่จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานอู่ตะเภาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบมาตรา ๕ (๑๒) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพเรือ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๓๘ ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งจำเป็นในการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยให้บรรลุผล นอกจากนี้ข้อกำหนดของสัญญาดังกล่าวที่ให้จำเลยมีสิทธิสั่งให้ผู้รับจ้างทำงานพิเศษ หรือสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม หรือตัดทอนซึ่งงานตามสัญญา เป็นข้อกำหนดที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยบรรลุผลและข้อกำหนดที่ให้ใช้สัญญาแบบปรับราคาได้ เป็นข้อกำหนดที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่พบในสัญญาทางแพ่งตามกฎหมายเอกชน สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ระหว่างกองทัพเรือ กับบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อมา บริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาจ้างช่วงโจทก์ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง โดยตกลงให้โจทก์ทำงานโครงการก่อสร้างที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เต็มตามจำนวนเงิน ปริมาณ และขอบเขตความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ระหว่าง กองทัพเรือ กับบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างทั้งหมดที่พึงได้รับตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ตั้งแต่งวดงานที่ ๑ เป็นต้นไปจนถึงเสร็จสิ้นงานโครงการตามสัญญาโครงการแก่โจทก์ ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง โดยบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลย ซึ่งจำเลยได้รับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องและมีหนังสือแจ้งเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องให้กรมสรรพากรทราบแล้ว เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์โดยบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ส่งงวดงานก่อสร้าง งวดงานที่ ๘ พร้อมใบแจ้งหนี้/วางบิล จำนวนเงิน ๗,๙๕๖,๐๐๐ บาท และได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจการจ้างแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระเงินค่างานงวดที่ ๘ ให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงิน จำนวน ๗,๙๕๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่โจทก์ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง และต้องพิจารณาข้อกำหนดในสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสำคัญ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
คดีนี้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ทำสัญญาจ้างบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก อันเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งจำเป็นในการจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ต่อมาบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างจากจำเลย ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ พร้อมบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างทั้งหมดไปยังจำเลยและได้รับความยินยอมจากจำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระค่างานในงวดที่ ๘ ให้แก่โจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามข้อตกลงอันเกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัท ๑๗ เจตต์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โจทก์ กองทัพเรือ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share