คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5987/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คโดยเข้าใจว่ามีสิทธิหักกลบลบหนี้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดท.เนื่องจากโจทก์มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้หนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดท.จะต้องชดใช้ให้แก่จำเลยทั้งสองดังนี้ย่อมมิใช่เป็นการกระทำโดยทุจริตจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา4(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(ที่ถูกควรเป็นมาตรา 4(5)) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวม 2 กระทง จำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 60,000 บาทรวมเป็นเงิน 120,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 1 ปีรวมเป็นโทษจำคุก 2 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดในกระทงที่ 2 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 11 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่โจทก์มีนายบุญเกียรติ กรรมการของโจทก์และนายยงยุทธ กิจนพเกียรติหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติพยานเบิกความว่า เดิมจำเลยทั้งสองเคยประมูลขายรถยกให้แก่กรุงเทพมหานครมาแล้วสองครั้ง ครั้งละ 5 คัน หลังจากจำเลยทั้งสองประมูลขายรถยกได้แล้ว จำเลยทั้งสองซื้อหัวรถและโครงรถจากโจทก์ไปว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติซึ่งมีนายยงยุทธเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกเพื่อส่งมอบให้แก่กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 จำเลยทั้งสองประมูลขายรถยกให้กรุงเทพมหานครได้อีก 5 คัน เป็นครั้งที่ 3จำเลยทั้งสองซื้อหัวรถและโครงรถจากโจทก์เพื่อไปว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกอีก โดยโจทก์ส่งมอบหัวรถและโครงรถ 3 คันแรกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติวันที่ 8, 9 และ 10กรกฎาคม 2534 ตามเอกสารหมาย ล.39 ถึง ล.41 แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติไม่ยอมต่อกระบะและอุปกรณ์การยกให้เนื่องจากเช็คซึ่งจำเลยทั้งสองสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าจ้างต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกสองครั้งแรกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโจทก์โดยนายบุญเกียรติ ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติโดยนายยงยุทธและจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า ให้โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกในครั้งที่ 3 แทน ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติจึงยอมต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกให้วันที่ 8 ตุลาคม 2534 โจทก์ส่งมอบหัวรถและโครงรถอีก 2 คันให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติตามเอกสารหมาย ล.42 และ ล.43 และวันที่ 28 ตุลาคม 2534 ได้ทำสัญญาซื้อขายรถทั้งห้าคันไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยทั้งสองออกเช็ครวม 3 ฉบับ ชำระค่าหัวรถโครงรถและค่าต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.14 จ.16 และ จ.51ประกอบเอกสารหมาย จ.53 เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติต่อรถทั้งห้าคันเสร็จ โจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับรถจากห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรตแทน และจำเลยทั้งสองได้นำรถไปมอบให้กรุงเทพมหานครแล้ว เห็นว่าพฤติการณ์ที่โจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติและจำเลยทั้งสองตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยก และหลังจากต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกเสร็จแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับรถตามเอกสารหมาย ล.1 โดยหนังสือดังกล่าวมีข้อความทำนองว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ว่าจ้างให้ต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยก แสดงว่าโจทก์รับรู้ถึงปัญหาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติมีหนี้ติดค้างกันกับจำเลยทั้งสองเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกที่จำเลยทั้งสองซื้อหัวรถและโครงรถมาจากโจทก์สองครั้งแรกข้อเท็จจริงนี้จำเลยที่ 2 เบิกความว่าในการว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกสองครั้งแรกจำเลยทั้งสองมีหนี้ติดค้างกับห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติ เนื่องมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกในสองครั้งแรกล่าช้าเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองถูกกรุงเทพมหานครปรับตามสัญญารวมเป็นเงิน 2,057,360 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติชดใช้ให้จำเลยทั้งสองครึ่งหนึ่งยังคงเป็นหนี้จำเลยทั้งสองอยู่1,028,680 บาท ส่วนเช็คที่จำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกสองครั้งแรกบางฉบับธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติได้ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ตามเช็คและจำเลยทั้งสองตกลงใช้หนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติเรียบร้อยแล้ว ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.13 ความข้อนี้นายยงยุทธ พยานโจทก์ก็เบิกความเจือสมคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติได้ชดใช้เงินที่จำเลยทั้งสองที่ถูกกรุงเทพมหานครปรับแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยทั้งสองชำระค่าต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกสองครั้งแรกนั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติได้รับชำระจากจำเลยทั้งสองแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติเป็นหนี้จำเลยทั้งสองเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองถูกกรุงเทพมหานครปรับอยู่อีก 1,028,680 บาท เมื่อโจทก์มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติจะต้องชดใช้แก่จำเลยทั้งสองเพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกล่าช้าเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองถูกปรับแม้หนี้ระหว่างจำเลยทั้งสองกับห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติเป็นเรื่องส่วนตัวแต่โจทก์ก็รับรู้จนรับอาสาเป็นผู้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติให้ต่อกระบะและอุปกรณ์เครื่องยกครั้งที่ 3ประกอบกับก่อนที่จำเลยทั้งสองจะมีหนังสือเอกสารหมาย จ.19 และจ.20 ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็ค จำเลยทั้งสองมีหนังสือแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ไปยังนายยงยุทธตามเอกสารหมาย ล.2นอกจากนี้เหตุผลที่จำเลยทั้งสองห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คตามเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 ก็ระบุว่าจำเลยทั้งสองประสงค์จะหักกลบลบหนี้ตามเช็คบางส่วนเนื่องมาจากโจทก์เข้ามาเกี่ยวข้องรับรู้หนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติจะต้องชดใช้ให้แก่จำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองห้ามธนาคารให้ใช้เงินตามเช็คสองฉบับตามฟ้องโดยเข้าใจว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินเตอร์นพเกียรติเนื่องจากโจทก์มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้ดังกล่าว จึงมิใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันจะเป็นการกระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4(5) เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดจึงไม่ต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยทั้งสองอีก ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดและลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

Share