คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคแรกบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสียถ้าหากมีเมื่อโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะอุทธรณ์ฎีกาเพื่อให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขต่อไปสำหรับการบังคับคดีนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายชนะชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271หากโจทก์ประสงค์จะขอให้งดการบังคับคดีไว้ก็ต้องยื่นคำร้องขอให้คดีเดิมโจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาหรือขอให้งดการบังคับคดีเป็นคดีใหม่ได้เมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้ก็ไม่อาจนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา254มาใช้บังคับแก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองมีที่ดินปลูกเรือนและเรือน 1 หลัง ราคาประมาณ 60,000 บาท เมื่อประมาณ 9 เดือนก่อนฟ้องมีเจ้าพนักงานบังคับคดีมายึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 180/2535 ของศาลชั้นต้น ที่ฟ้องอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ 2 ต่อหน้าจำเลยที่ 3 ว่าในการที่นายพิทักษ์บุตรโจทก์ที่ 1 ได้เสียกับจำเลยที่ 1จนมีบุตรในครรภ์ โจทก์ทั้งสองชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน20,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้ว จำเลยที่ 1 ได้หนีตามบุตรโจทก์ทั้งสอง แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 ได้พาจำเลยที่ 1 กลับ วันที่ 4 มกราคม2535 จำเลยที่ 1 ได้พาเจ้าพนักงานตำรวจใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ไปจับโจทก์ทั้งสองมาบังคับให้โจทก์ทั้งสองเซ็นต์ชื่อในบันทึกที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมกันทำไว้ว่า โจทก์ทั้งสองจะชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4มีอาชีพทนายความได้ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 หนีไปอยู่กับนายพิทักษ์ ได้เรียงคำฟ้องอันเป็นข้อความไม่ตรงต่อความเป็นจริงคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายชนะคดี โจทก์ทั้งสองต้องขายที่ไร่ต่อสู้คดี จ้างทนายความว่าต่าง และต้องเสียค่าใช้จ่ายไปรวมเป็นเงิน 51,000 บาท ขอให้ศาลบังคับดังนี้ คือ1. ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 51,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง 2. ให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต่อศาลขอให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท 3. ให้เพิกถอนคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 180/2535 ของศาลชั้นต้น ระหว่างจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวกับโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวหากเพิกถอนหรือทำลายไม่ได้ อย่าให้คำพิพากษาผูกมัดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสอง
ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องว่า รับคำฟ้องเฉพาะคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ส่วนคำขอท้ายฟ้องข้อ 2, 3 เป็นเรื่องที่โจทก์จะไปใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 180/2535
ต่อมาโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งงดการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไว้ก่อน มิฉะนั้นจะทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายมาก และหากโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายชนะคดี ก็จะเป็นการเสียหายแก่จำเลยเช่นกัน
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองว่า กรณีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวในคดีนี้ ให้ยกคำร้อง
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์ คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองจะขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หากถอนหรือทำลายไม่ได้ก็อย่าให้คำพิพากษาผูกมัดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองและขอให้สั่งให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต่อศาลขอให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาทของโจทก์ทั้งสอง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 180/2535 ของศาลชั้นต้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ถ้าหากมีเมื่อโจทก์ทั้งสองเห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะอุทธรณ์ฎีกา เพื่อให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขต่อไป สำหรับการบังคับคดีนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายชนะชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้น ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 หากโจทก์ทั้งสองประสงค์จะขอให้งดการบังคับคดีไว้ก็ต้องยื่นคำร้องขอให้คดีเดิม โจทก์ทั้งสองไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษา หรือขอให้สั่งงดการบังคับคดีเป็นคดีใหม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้ ก็ไม่อาจนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 มาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสี่ได้
พิพากษายืน

Share