คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9347/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงซื้อขายที่ดินรวม 4 แปลง เนื้อที่รวม 21 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา ต่อมาโจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดินทั้ง 4 แปลง ปรากฏว่าที่ดินทั้งสี่แปลงมีเนื้อที่เพียง 18 ไร่ 92 ตารางวา ขาดหายไป 3 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา การที่จำเลยทั้งสามทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินของตนมีเนื้อที่น้อยกว่าที่ปรากฏในโฉนดแต่มิได้แจ้งให้โจทก์ทราบในขณะทำการซื้อขาย จึงเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง เป็นการกระทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์ ไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี โจทก์ยื่นฟ้องภายในระยะเวลาดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเสนอราคาขายที่ดินต่อโจทก์รวม 4 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 29,901,150 บาท โจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามที่จำเลยทั้งสามเสนอราคา ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าว ปรากฏว่าเนื้อที่น้อยกว่าเดิม 3 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา ทำให้โจทก์ชำระเงินค่าซื้อที่ดินเกินกว่าราคาที่แท้จริง 4,743,750 บาท จำเลยทั้งสามปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อที่ที่ดินที่ขาดหายไปทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าที่ดินทั้งหมดมีเนื้อที่เต็มตามโฉนดเป็นการละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด จำเลยทั้งสามต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสามรับเงินไปจากโจทก์คือวันที่ 3 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,305,181.08 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 6,048,931.08 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือใช้แทนคืนเงิน 6,048,931.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,743,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับโฉนดที่ดินของจำเลยทั้งสามเรียบร้อยแล้วและตกลงทำสัญญาซื้อขายและยอมรับมอบที่ดินพร้อมโฉนดที่ดินไปจากจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามซื้อมาจากบุคคลภายนอกอีกทีหนึ่งไม่ทราบว่าเนื้อที่ที่ดินขาดบกพร่องไป จำเลยทั้งสามไม่เคยรังวัดที่ดินทั้ง 4 แปลง โจทก์คำนึงถึงเนื้อที่ที่ดินตามหน้าโฉนดที่ระบุไว้ในเอกสารสิทธิแต่ละฉบับเท่านั้น หาได้ถือเนื้อที่ที่ดินเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใดไม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดในการที่เนื้อที่ที่ดินขาดตกบกพร่อง โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยทั้งสามภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ 3 ปีเศษแล้ว คดีขาดอายุความ อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาที่ดินที่ชำระเกิน โจทก์ต้องฟ้องมาภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบ โจทก์ทราบถึงการขาดจำนวนเนื้อที่ตั้งแต่ตุลาคม 2542 และทำรังวัดอีกครั้งในวันที่ 27 ธันวาคม 2542 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์ทราบดีแล้วว่าเนื้อที่ที่ดินขาดไปตามฟ้องไม่ว่าจะนับแต่ตุลาคม 2542 หรือนับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2542 จนถึงวันฟ้องล่วงเลยเวลา 1 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยทั้งสามเสนอขายที่ดินให้แก่โจทก์โดยรู้อยู่ก่อนหรือไม่ว่าเนื้อที่ขาดหายไปจากโฉนด 3 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา เห็นว่า จำเลยทั้งสามซื้อที่ดินทั้งสี่แปลงแล้วได้ยื่นคำขอรวมโฉนด 3 แปลง เจ้าพนักงานรังวัดแล้วทำรายงานการรังวัด ระบุว่า เนื้อที่ที่ดินหายไป 3 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา ต่อมาจำเลยทั้งสามยื่นคำขอยกเลิกเรื่องการรวมโฉนด การที่จำเลยทั้งสามทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินของตนเนื้อที่น้อยกว่าที่ปรากฏในโฉนด แต่มิได้แจ้งให้โจทก์ทราบในขณะทำการซื้อขาย จึงเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง เป็นการกระทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์ ไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี โจทก์ยื่นฟ้องภายในระยะเวลาดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่างกัน จึงต้องรับผิดตามส่วนที่ถือกรรมสิทธิ์ โดยโฉนดเลขที่ 691 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 2,015 ส่วน จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ 400 ส่วน โฉนดเลขที่ 948 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 1,776 ส่วน จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ 1,600 ส่วน และโฉนดเลขที่ 949 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 2,300 ส่วน จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ 440 ส่วน ที่ดินโฉนดเลขที่ 691 เนื้อที่ขาดไป 54 ตารางวา คิดเป็นเงิน 186,300 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องร่วมกันรับผิด 155,442.85 บาท จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด 30,857.15 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 948 เนื้อที่ขาดไป 2 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา คิดเป็นเงิน 3,898,500 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องรับผิด 2,050,869.70 บาท จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด 1,847,630.30 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 949 เนื้อที่ขาดหายไป 1 งาน 91 ตารางวา เป็นเงิน 658,950 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องรับผิด 553,133.20 บาท สำหรับค่าที่ดินที่ขาดหายไปนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผิด 2,759,445.75 บาท (คนละ 1,379,722.875 บาท) ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดรวม 1,984,304.25 บาท จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด 105,816.80 บาท
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินคนละ 1,379,722.875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 1,984,304.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share