คำวินิจฉัยที่ 8/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘/๒๕๔๕

วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๒ มาตรา ๕๗ และมาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง

ศาลจังหวัดลพบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการฯ
ศาลจังหวัดลพบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องและศาลที่รับฟ้องเห็นว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของอีกศาลหนึ่ง แต่ศาลดังกล่าวเห็นว่า คดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๔ ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเบียน หมู่ที่ ๒ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยนายไพฑูรย์ โยธานัน ผู้ร้อง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเบียน หมู่ที่ ๒ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เครื่องหมายประจำตัวหมายเลข ๘ ปรากฏว่า องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเบียนได้ประกาศผลการเลือกตั้งให้ ผู้สมัครเครื่องหมายประจำตัว หมายเลข ๕ และหมายเลข ๓ เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องต่อ ศาลจังหวัดลพบุรี คัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเบียน หมู่ที่ ๒ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี อ้างว่า การวินิจฉัยของกรรมการตรวจคะแนนกรณีวินิจฉัยว่าบัตรเลือกตั้งเป็นบัตรดีหรือบัตรเสียนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากบัตรเลือกตั้งที่กรรมการตรวจคะแนนวินิจฉัยว่าเป็นบัตรเสียนั้นไม่มีลักษณะเป็นบัตรเสียตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๒ มาตรา ๕๒ ทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับเลือกตั้ง จึงขอให้ศาลจังหวัดลพบุรีมีคำสั่งว่าไม่มีบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดได้รับเลือกตั้งโดยชอบ และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเบียน หมู่ที่ ๒ ใหม่ ซึ่งต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเบียน ผู้คัดค้าน โดยนายอรัญ ทั่งทองแท้ พนักงานอัยการจังหวัดลพบุรี ทนายความผู้คัดค้าน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดลพบุรีก่อนวันนัดไต่สวนคำร้องว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและขอให้ศาลจังหวัดลพบุรีดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลจังหวัดลพบุรีเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่าการปฏิบัติหน้าที่และคำสั่งของเจ้าพนักงานของรัฐไม่ชอบ มีผลไปในทางเสื่อมเสียสิทธิของผู้ร้อง เป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย มีผลเท่ากับเป็นการโต้แย้งคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปกครอง จึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง และได้ส่งความเห็น ดังกล่าวไปยังศาลปกครองกลางจัดทำความเห็นตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางเห็นว่า การคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลให้นำพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๒ มาใช้โดยอนุโลม ซึ่งตามมาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลที่พิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งดังกล่าว ต้องดำเนินการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันเป็นวิธีพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม ดังนั้น จึงเห็นว่าศาลที่มีอำนาจพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล คือ ศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๔

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา ศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคำร้องคัดค้าน
การเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๒ มาตรา ๕๗ และมาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า การคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีลักษณะเป็นการคัดค้านคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ร้องอ้างว่า คณะกรรมการตรวจคะแนนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ซึ่ง พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔๕ วรรคสาม บัญญัติว่า “หลักเกณฑ์และวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น” แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นใช้บังคับ กรณีจึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโดยอนุโลม” ซึ่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๕๗ บัญญัติว่า “ภายในสิบห้าวัน นับตั้งแต่เทศบาลประกาศผลของการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบคนก็ดี ผู้สมัครคนใดก็ดี ในเขตเลือกตั้งใดเห็นว่าการเลือกตั้งในเขตนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งเขตเลือกตั้งนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อขอให้สั่งว่าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดมิได้รับเลือกตั้งโดยชอบ และหรือว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้งโดยชอบ หรือว่าไม่มีบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดได้รับเลือกตั้งโดยชอบ” และมาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้รับคำร้องคัดค้านแล้ว ให้ดำเนินการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยเร็ว …” เป็นการบัญญัติให้ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องดำเนินการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันเป็นวิธีพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม ซึ่งวิธีพิจารณาคดีถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปตามความมุ่งหมายของกฎหมาย หากให้ศาลปกครองต้องตัดสินคดีปกครองโดยใช้วิธีพิจารณาความแพ่งแทนที่จะใช้วิธีพิจารณาคดีปกครอง ย่อมจะไม่สอดคล้องกับระบบและความมุ่งหมายของกฎหมาย ดังนั้น ศาลยุติธรรมจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๒ มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๓/๒๕๔๔ ถึง ๗/๒๕๔๔
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเบียน หมู่ที่ ๒ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ของนายไพฑูรย์ โยธานัน ผู้ร้อง อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดลพบุรี

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share