คำวินิจฉัยที่ 46/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๖/๒๕๔๗

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗

เรื่อง อำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสิงห์บุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้นข้อเท็จจริงในคดี
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๔ นางประทุม สัมฤทธิ์ดี ได้ยื่นฟ้อง สำนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี ที่ ๑ นายทนง อายุโย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๕๒๓/๒๕๔๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๘๗ ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีระบุข้างเคียงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้แจ้งจดทางสาธารณประโยชน์ แต่ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กับพวกได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๐๓ ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีด้านดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่๑ได้ไปทำการรังวัดเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๔ และเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ จากการรังวัดทำให้ทับทางสาธารณประโยชน์ข้างต้น ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าใช้สัญจรมากว่า ๒๐ ปี และทำให้ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวถูกปิดลง ผู้ฟ้องคดีได้สอบถามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และอำเภอเมืองสิงห์บุรีแล้ว แต่รับแจ้งว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่ติด ทางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีจึงมาฟ้องศาลเพราะเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รังวัดสอบเขตที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เปิดทางสาธารณประโยชน์ตามสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีควรได้
ในระหว่างพิจารณา นายทนง อายุโย ได้มีหนังสือแจ้งว่าอาจได้รับผลกระทบจากคดีและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี ซึ่งหากศาลพิพากษาว่าการสอบรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๐๓ที่พิพาทเป็นไปโดยมิชอบจะทำให้นายทนงฯ ได้รับความเสียหาย ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้นายทนง ฯ เข้ามาในคดีในฐานะคู่กรณีฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีโดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ในการดำเนินการรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม โฉนดเลขที่ ๔๗๐๓ ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ตามคำขอของนายทนงฯ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๔ นั้น สภาพที่ดินไม่เป็นทางสาธารณประโยชน์ แต่ผู้ปกครองท้องที่ในขณะนั้นไม่ยืนยันว่าเป็นที่ทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ จึงได้งดการรังวัด ต่อมาได้ทำการรังวัดใหม่เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ภายหลังจากที่นายอำเภอเมืองสิงห์บุรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจดูแลรักษา ทางสาธารณประโยชน์ ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ แจ้งว่า ไม่เป็นทางสาธารณประโยชน์ และ ผู้ฟ้องคดีได้ร่วมระวังแนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินด้วยโดยมิได้ร้องเรียนถึงกรณีพิพาทแต่อย่างใด และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่าที่พิพาทไม่เป็นทางสาธารณประโยชน์ แต่เจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียงได้เปิดทางเข้าออกกันเองและเมื่อตนได้รังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม จึงมีผู้ซื้อที่ดินเพื่อเป็นทางเข้าออก จำนวน ๔๐ ตารางวา
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินของตนติดทางสาธารณประโยชน์และได้ใช้ทางดังกล่าวสัญจรไปมากว่า ๒๐ ปี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และอำเภอเมืองสิงห์บุรีซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลทางสาธารณประโยชน์ได้ตรวจสอบแล้วแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวไม่ติดทางสาธารณประโยชน์ และต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ยื่นหนังสืออ้างว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดี อ้างว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์นั้นตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว คดีจึงเป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินทางสาธารณประโยชน์ หรือเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวมของเอกชนเป็นสำคัญ ซึ่งการโต้แย้งกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเกิดจากการรังวัดสอบเขตที่ดินตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้น ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๔ ทรัพย์สิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดสิงห์บุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีแนวเขตจดทางสาธารณประโยชน์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และอำเภอเมืองสิงห์บุรี ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทางสาธารณประโยชน์ได้ตรวจสอบแล้วยืนยันว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่จดทางสาธารณประโยชน์นั้นตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี มีประเด็นหลักเพื่อต้องการทราบว่า โฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีซึ่งอ้างว่าจดทางสาธารณประโยชน์นั้นข้อเท็จจริงเป็นประการใด จะมีการเปิดทางเดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้หรือไม่ กรณีจึงเป็นการโต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยทำการรังวัดออกโฉนดที่ดินแปลงข้างเคียงที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามกฎหมายและรูปแบบขั้นตอนทั้งยังทำการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งให้นายทนงฯ เข้ามาในคดี ในฐานะคู่กรณีฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีโดยเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็ไม่ทำให้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครองต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะนายทนงฯ มิได้ตั้งข้อพิพาทกับผู้ฟ้องคดีโดยตรง คงยืนยัน แต่เพียงว่าในที่ดินของตนไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์อยู่ด้วยเท่านั้น จึงมีปัญหา ที่จะต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๐๓ ตำบลม่วงหมู่อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ระบุว่ามีทางสาธารณประโยชน์อยู่ในที่ดินดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินข้างเคียงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงเข้ามาในคดีเพื่อกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การสรุปได้ว่าผู้ฟ้องคดี มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๘๗ ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมืองสิงห์บุรีจังหวัดสิงห์บุรี โดยระบุข้างเคียงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้แจ้งจดทางสาธารณประโยชน์ แต่ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒กับพวกได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดแปลงที่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีด้านดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ไปทำการรังวัดทับทางสาธารณประโยชน์ข้างต้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ให้การว่าในการดำเนินการรังวัดที่ดินได้รับแจ้งจากนายอำเภอเมืองสิงห์บุรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจดูแลรักษาทางสาธารณประโยชน์ ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ว่าที่ดินดังกล่าวไม่เป็นทางสาธารณประโยชน์ และผู้ฟ้องคดีได้ร่วมระวังแนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินด้วยโดยมิได้ร้องเรียนถึงกรณีพิพาทแต่อย่างใด การรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงชอบด้วยกฎหมาย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่าที่พิพาท ไม่เป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนั้น การที่ศาลจะพิจารณาว่าการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งดำเนินการโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความ เสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินข้างเคียงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงเข้ามาในคดีเพื่อกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ ระหว่าง นางประทุม สัมฤทธิ์ดี ผู้ฟ้องคดี สำนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี ที่ ๑ นายทนง อายุโย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ศาลจังหวัดสิงห์บุรี

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share