แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะสั่งให้รื้อถอนอาคารได้เฉพาะกรณีการก่อสร้างไม่ได้รับอนุญาตและการก่อสร้างนั้นผิดกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ทั้งต้องเป็นกรณีที่การก่อสร้างนั้นไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นด้วย เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่าการก่อสร้างอาคารของจำเลยผิดกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น คงปรากฏเพียงว่าจำเลยก่อสร้างอาคารใหญ่โตเกินไปซึ่งเจ้าของที่ดินถือว่าเป็นการผิดข้อตกลงและยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นระงับการออกใบอนุญาต จึงหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยก่อสร้างอาคารผิดกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นไม่ทั้งไม่ปรากฏว่าอาคารที่จำเลยก่อสร้างขึ้นมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือผิดสุขลักษณะอนามัยหรือไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน โจทก์จึงไม่อาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เจ้าพนักงานสั่งให้จำเลยรื้อถอนแล้วแต่จำเลยไม่รื้อถอน ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคาร จำเลยให้การว่า เจ้าของที่ดินอนุญาตให้ก่อสร้างได้สภาพของอาคารมั่นคงแข็งแรงศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาท ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยมีอาชีพค้าขายเครื่องเรือน และเครื่องประดับบ้านโดยใช้ชื่อห้างพีโอรี ได้จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อประมาณเดือนมกราคม2524 จำเลยได้เช่าบ้านเลขที่ 14 และที่ดินโฉนดเลขที่ 40798 จากนางสนิท ตุลยารักษ์ ผู้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินดังกล่าว จำเลยได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารหนึ่งหลังบนที่ดินดังกล่าวเพื่อเป็นอาคารแสดงสินค้า ซึ่งนางสนิทตกลงให้ก่อสร้างได้ แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้รับอนุญาต จำเลยได้ลงมือก่อสร้างอาคารจนแล้วเสร็จต่อมาจำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครใต้ในข้อหาปลูกสร้างอาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาตตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 23180/2524ศาลแขวงพระนครใต้ได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดและปรับจำเลย2,000 บาท คดีถึงที่สุดแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างภายในสามสิบวัน พ้นกำหนดแล้วจำเลยไม่รื้อถอน โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า ศาลควรจะบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวนั้นหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างด้วยเหตุว่าจำเลยก่อสร้างโดยมิได้รับอนุญาต อำนาจการสั่งรื้อถอนของโจทก์ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ซึ่งตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะสั่งให้รื้อถอนอาคารทั้งหมดหรือบางส่วนได้เฉพาะกรณีที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และการก่อสร้างนั้นผิดกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ทั้งต้องเป็นกรณีที่การก่อสร้างนั้นไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นด้วยเกี่ยวกับคดีนี้ฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่าการก่อสร้างอาคารของจำเลยนั้นผิดกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นอย่างไร กลับปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากนางสนิทเจ้าของที่ดินให้ก่อสร้างได้ แต่เนื่องจากจำเลยได้ก่อสร้างอาคารใหญ่โตเกินไป ซึ่งนางสนิทถือว่า เป็นการผิดเงื่อนไขที่ตกลงกัน จึงได้ยื่นคำร้องขอให้หัวหน้าเขตพระโขนงในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นระงับการออกใบอนุญาตไว้ หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยก่อสร้างอาคารผิดกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นแต่อย่างใดไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าอาคารที่จำเลยก่อสร้างขึ้นมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือผิดสุขลักษณะอนามัยหรือไม่ปลอดภัยแก่ประชาชนแต่ประการใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดอายุอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงต้องสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นปรากฏว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2526 ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายออกไปอีก 10 วันนับแต่วันที่ 31 มกราคม 2527 จำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2527 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ มิใช่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดอายุอุทธรณ์แล้วดังฎีกา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้”