แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองพกปืนไปหาผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ควักปืนออกมาชี้ปากกระบอกปืนไปที่ผู้เสียหายแล้วถามจำเลยที่ 1 ว่า คนนี้ใช่ไหม จำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิงผู้เสียหาย 3 นัด จำเลยที่ 2 ยิงปืนขู่ 1 นัด และพูดขู่ไม่ให้พวกผู้เสียหายติดตาม แล้วจำเลยทั้งสองพากันวิ่งหนีไป ดังนี้ จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย
เมื่อตำรวจติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 และแสดงตัวให้ทราบว่าเป็นตำรวจจำเลยที่ 2 จ้องปืนมาที่ตำรวจ แต่ไม่ยิงทั้งๆ ที่มีโอกาสยิงได้ ปล่อยให้ตำรวจกระโดดเข้าปัดปืนจากจำเลยจนปืนลั่น โดยไม่ปรากฏว่าปืนลั่นเพราะจำเลยมีเจตนายิง พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าจำเลยที่ 2 จ้องปืนเพื่อขู่ตำรวจเท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้พกอาวุธปืนและกระสุนปืนเข้าไปในเมืองและในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายพันธ์ดอนโดยเจตนาฆ่า แต่นายพันธ์ดอนไม่ถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยที่ ๒ ต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจ ใช้อาวุธปืนยิงจ่าสิบตำรวจสุทัศน์กับพวกในขณะกระทำการตามหน้าที่ โดยเจตนาฆ่าแต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด ขอให้ลงโทษ
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๓๗๑,๘๐,๘๓ จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามมาตรา ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๗๑, ๘๐,๘๓ อีกด้วย ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ และจำเลยที่ ๒ ตามาตรา ๒๘๙, ๘๐,๘๓ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๑๖ ปี จำเลยที่ ๑ รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๘ ปี วางโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ๑๘ ปี คำรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ สิบสองปี ของกลางริบ
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีเจตนาฆ่าเจ้าพนักงาน พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๘, ๘๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๘, ๘๐ ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา ๙๑ จำคุก ๑๒ ปี คำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ แปดปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๑ เดินมาถึงที่ที่ผู้เสียนั่งคุยอยู่กับพวกพยานโจทก์ จำเลยที่ ๒ ก็ควักปืนพกออกมาเอาปากกระบอกปืนชี้ไปที่ผู้เสียหาย และพูดเป็นทำนองถามจำเลยที่ ๑ ว่า “คนนี้ใช่ไหม” พอผู้เสียหายถามว่า “เรื่องอะไรกัน” จำเลยที่ ๑ ก็ยิงผู้เสียหาย ๓ นัด ทันทีนั้นเองจำเลยที่ ๒ ได้ยิงปืนขู่ และพูดกับพวกพยานโจทก์ว่า “อย่านะ” เป็นการขู่ไม่ให้พวกพยานโจทก์เข้าไปยุ่งเกี่ยว แล้วจำเลยทั้งสองก็พากันหลบหนีไป จึงวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ ๒ แสดงชัดว่าได้ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ ๑ คิดจะยิงผู้เสียหายมาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว จึงได้พกปืนติดตัวมาด้วยกันทั้งสองคน และเมื่อพบผู้เสียหายก็ได้มีการสอบถามกันเพื่อความแน่นอนไม่ให้ทำร้ายผิดตัว หลักจากที่จำเลยที่ ๑ ยิงแล้ว จำเลยที่ ๒ ก็ยิงขู่เพื่อไม่ให้พยานโจทก์ไล่ติดตามจำเลยที่ ๑ กับตนเองจะได้หลบหนีจากการจับกุมไปได้สะดวก จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ กระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะได้ความว่าเมื่อจ่าสิบตำรวจสุทัศน์แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และร้องบอกไม่ให้หนีจำเลยที่ ๒ ได้เอาหมวกที่บังปืนออก แล้วจ้องปืนตรงมาที่จ่าสิบตำรวจสุทัศน์ก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงว่าจำเลยที่ ๒ เป็นเด็กวัยรุ่น อายุเพียง ๑๙ ปี เมื่อกระทำผิดแล้วหาทางหลบหนีโดยมิได้คิดจะต่อสู้ทำร้ายเจ้าพนักงาน หากแต่หนีไปไม่พ้น ต้องมาประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจำเลยมีโอกาสที่จะยิงจ่าสิบตำรวจสุทัศน์ได้ในทันทีที่จ่าสิบตำรวจสุทัศน์แสดงตัวโดยยิงจากภายในหมวกไม่จำต้องเอาหมวกออกให้จ่าสิบตำรวจสุทัศน์เห็นปืนเสียก่อน ก็ย่อมทำได้ แต่จำเลยก็หาได้ยิงไม่ แสดงได้เห็นเจตนาอันแท้จริงของจำเลยที่ ๒ ที่จ้องปืนไปยังจ่าสิบตำรวจสุทัศน์ก็เพื่อขู่มิให้จ่าสิบตำรวจสุทัศน์เข้าทำการจับกุมเท่านั้นหาได้มีเจตนายิงไม่ หากแต่จ่าสิบตำรวจสุทัศน์กระโดดเข้าปัดปืนจากจำเลยที่ ๒ ปืนจึงลั่นขึ้น ในสภาพที่ฉุกละหุกเช่นนั้น อาจเป็นเหตุให้ปืนลั่นได้ โดยจำเลยที่ ๒ มิได้มีเจตนายิง คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน
พิพากษายืน