แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยโดยอ้างว่า จำเลยยักยอกเอาเงินของโจทก์ร่วมไป เป็นการร้องทุกข์ในนามของตนเองไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่า โจทก์ร่วมในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ได้ร้องทุกข์แทนห้าง ดังนี้ ถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ไว้โดยชอบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับมอบเงินสดจำนวน 250,000 บาท จากนายสหัส เรืองวัฒนาศิริกุล ผู้เสียหาย ให้เป็นตัวแทนนำเงินจำนวนดังกล่าวไปมอบให้กรรมการฝ่ายหาทุนหรือจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเขต 5 ครั้งที่ 17 เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย จำเลยได้เบียดบังยักยอกเงินสดจำนวน 250,000 บาทของผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยครอบครองไว้เป็นประโยชน์ของจำเลยหรือของบุคคลอื่นโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่จังหวัดแพร่ และตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 250,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายสหัส เรืองวัฒนาศิริกุลยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายที่แท้จริงในคดีนี้คือห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่สหัสก่อสร้าง เมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ในนามของตนเอง มิใช่ในนามของห้างฯ โจทก์ร่วมซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยถือได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่สหัสก่อสร้างผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง และคำขอเป็นโจทก์ร่วมย่อมตกไปด้วยพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังแล้ว ก่อนยื่นฎีกา โจทก์ร่วมถึงแก่กรรมนางมาลา เรืองวัฒนาศิริกุล ภริยาโจทก์ร่วม ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่สหัสก่อสร้างผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้โดยชอบหรือไม่ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่สหัสก่อสร้าง โจทก์จึงเป็นผู้แทนของห้างซึ่งเป็นนิติบุคคล มีอำนาจจัดการแทนห้างซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3) โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยไม่จำต้องระบุว่ากระทำการแทนหรือกระทำในนามของห้าง ถือว่าการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมชอบด้วยกฎหมายแล้วในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายในคดีนี้คือห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่สหัสก่อสร้างมิใช่โจทก์ร่วม ตามบันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความได้ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองแพร่ เอกสารหมาย จ.7 มีข้อความว่า”วันนี้ (26 ก.พ.2527) ตาม ป.จ.ว. ข้อ 3 เวลา 15.40 น. ได้มีนายสหัส เรืองวัฒนาศิริกุล แจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน2526 เวลาประมาณ 9.00 นาฬิกาเศษ ผู้แจ้งและภรรยาได้นำเงินจำนวน 250,000 บาท ไปมอบให้นายสกล อารีพันธุ์ ผู้อำนวยการประถมศึกษาจังหวัดแพร่ เพื่อเป็นการบริจาคช่วยเหลืองานกีฬาเขต 5จึงเชื่อว่านายสกลฯ มีเจตนายักยอกเงินจำนวนดังกล่าวของผู้แจ้งอย่างแน่นอน จึงได้มาแจ้งความมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีนายสกล อารีพันธุ์ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป” พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามบันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความได้ เอกสารหมายจ.7 มีข้อความชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยโดยอ้างว่าจำเลยยักยอกเอาเงินของโจทก์ร่วมไป เป็นการร้องทุกข์ในนามตนเอง ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่า โจทก์ร่วมในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้ร้องทุกข์แทนห้างซึ่งเป็นนิติบุคคล ถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่สหัสก่อสร้างผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ไว้โดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์”
พิพากษายืน