แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หลังจากจำเลยมีคำสั่งห้ามไม่ให้ปล่อยเงินกู้นอกระบบในบริษัทจำเลยแล้ว โจทก์ยังฝ่าฝืนปล่อยเงินกู้นอกระบบให้ลูกจ้างของจำเลยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ซึ่งแม้จะมิใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง แต่ก็เป็นการกระทำความผิดอาญาในระหว่างการทำงาน ทั้งยังเป็นการเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานส่งผลกระทบต่อกำลังใจในการทำงาน ย่อมทำให้กิจการของจำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง และเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 2,800 บาท และค่าชดเชย 84,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 10,500 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 105,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 2,800 บาท ให้โจทก์ โจทก์แถลงขอถอนฟ้องในส่วนดังกล่าว ศาลแรงงานกลางอนุญาตแล้วโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย มีวันเข้าทำงาน ตำแหน่ง ค่าจ้าง และกำหนดจ่ายค่าจ้างตามคำฟ้อง จำเลยประกอบกิจการโครงสร้างเหล็ก มีลูกจ้างประมาณ 500 คน เนื่องจากมีการกู้ยืมเงินนอกระบบเกิดขึ้นในบริษัทจำเลย สร้างความเดือดร้อนในภาระหนี้สินให้แก่ลูกจ้างที่กู้ยืมเงินดังกล่าว วันที่ 30 ตุลาคม 2546 จำเลยจึงออกประกาศห้ามไม่ให้มีการกู้ยืมเงินนอกระบบในบริษัทจำเลยโดยกำหนดให้ลูกจ้างที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบเลิกกระทำการดังกล่าวภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2546 หากฝ่าฝืนจะถือว่าเป็นการจงใจทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหาย และจำเลยได้จัดสวัสดิการให้ลูกจ้างกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4 ต่อปี โจทก์เป็นผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 120 ต่อปี ก่อนจำเลยออกประกาศ โจทก์ปล่อยเงินกู้นอกระบบให้แก่ลูกจ้างของจำเลยอยู่ประมาณ 60 ถึง 70 ราย รวมเป็นเงินประมาณ 500,000 บาท ซึ่งโจทก์เป็นผู้มอบให้แก่นางสาวนภาวรรณ เทียนถาวร เลขานุการประธานคณะกรรมการบริษัทจำเลย ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ปล่อยเงินกู้นอกระบบดังกล่าว และจำเลยได้ให้ลูกจ้างที่กู้เงินนอกระบบทำบันทึกชี้แจงปรากฏว่ามีลูกจ้างที่กู้เงินนอกระบบจากโจทก์ และมีลูกจ้างที่กู้เงินนอกระบบทั้งจากโจทก์และบุคคลอื่น แสดงว่าหลังจากจำเลยมีคำสั่งห้ามแล้ว โจทก์ยังคงปล่อยเงินกู้นอกระบบอยู่ โจทก์แถลงว่า หลังจากจำเลยมีประกาศห้ามแล้ว โจทก์ได้โอนหนี้ของโจทก์ให้บุคคลอื่นเป็นเจ้าหนี้คงเหลือลูกหนี้อยู่ที่โจทก์ไม่กี่ราย รวมเป็นเงินไม่เกิน 50,000 บาท ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า หลังจากที่จำเลยมีคำสั่งห้ามปล่อยเงินกู้นอกระบบแล้ว การที่โจทก์ยังปล่อยเงินกู้นอกระบบให้ลูกจ้างของจำเลยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง และไม่เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เพราะแม้ลูกจ้างผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงไปบ้าง แต่ก็ไม่สูงเกินไป ไม่มีผลกระทบต่อกิจการของจำเลยให้ต้องเสียหายอย่างชัดแจ้ง และโจทก์ได้ให้ความร่วมมือโดยมอบรายชื่อลูกจ้างที่กู้ยืมเงินให้จำเลยผ่านทางเลขานุการประธานคณะกรรมการบริษัทจำเลยแล้ว เห็นว่า หลังจากจำเลยมีคำสั่งห้ามไม่ให้ปล่อยเงินกู้นอกระบบในบริษัทจำเลยแล้ว โจทก์ยังฝ่าฝืนปล่อยเงินกู้นอกระบบให้ลูกจ้างของจำเลยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการกระทำความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งแม้จะมิใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง แต่ก็เป็นการกระทำความผิดอาญาในระหว่างการทำงาน ทั้งยังเป็นการเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน ส่งผลกระทบต่อกำลังใจในการทำงาน ย่อมทำให้กิจการของจำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง และเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง และเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเลย ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้โจทก์จะส่งรายชื่อผู้กู้ให้จำเลยก็ไม่ทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิด ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน