แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 159 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอเพิ่มโทษจำเลยได้กำหนดแต่เพียงว่า เมื่อโจทก์ต้องการให้เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ ให้กล่าวมาในฟ้อง มิได้กำหนดให้อ้างมาตราในกฎหมาย ที่ขอเพิ่มโทษไว้ดังเช่นการฟ้องคดีที่ต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และบรรยายมาในฟ้องเกี่ยวกับการขอเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพ้นโทษมาแล้วกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษโดยมีคำขอท้ายฟ้องแต่เพียงว่าขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย แต่เนื่องจากคำขอดังกล่าวเป็นกรณีที่อาจเพิ่มโทษได้กึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 97 หรือเพิ่มโทษได้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เมื่อคำขอท้ายฟ้องของโจทก์คงระบุเพียงว่าขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายไม่แน่ชัดว่าประสงค์ให้เพิ่มโทษตามบทกฎหมายใด จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามสำหรับความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงชอบแล้ว และเมื่อจะต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองในการกระทำความผิดฐานนี้ด้วยย่อมเพิ่มโทษปรับได้เพราะเป็นกรณีมีการลงโทษในการกระทำความผิดฐานนี้ถึงจำคุก มิใช่ลงโทษฐานนี้เพียงปรับสถานเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102, พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 62, 106, 106 ทวิ, 116 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 83, 91, 32, 33 ริบ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน คีตามีน อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และซองโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ ย.5556/2546 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีหมายเลขแดงที่ ย.5856/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริง และจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่ถูก วรรคสาม (2)), 66 วรรคสอง (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106, 106 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีกำหนด 5 ปี และปรับ 400,000 บาท การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จำคุก 5 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนฯ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 คนละกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 7 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 600,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน และปรับ 600,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 600,000 บาท รวมกับโทษในความผิดฐานอื่นเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 15 ปี 6 เดือน และปรับ 600,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี 4 เดือน และปรับ 400,000 บาท นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ ย.5556/2546 ของศาลชั้นต้น นับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีหมายเลขแดงที่ ย.5856/2545 ของศาลชั้นต้น หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และซองโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 คนละหนึ่งในสาม เป็นจำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 400,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน และปรับ 400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 14 ปี 8 เดือน และปรับ 400,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี 20 เดือน 40 วัน และปรับ 266,666.67 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาข้อเดียวขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ซึ่งกำหนดให้เพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 159 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอเพิ่มโทษจำเลยได้กำหนดแต่เพียงว่า เมื่อโจทก์ต้องการให้เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ ให้กล่าวมาในฟ้อง มิได้กำหนดให้อ้างมาตราในกฎหมายที่ขอเพิ่มโทษไว้ดังเช่นการฟ้องคดีที่ต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และบรรยายมาในฟ้องเกี่ยวกับการขอเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพ้นโทษมาแล้วกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ โดยมีคำขอท้ายฟ้องแต่เพียงว่าขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย แต่เนื่องจากคำขอดังกล่าวเป็นกรณีที่อาจเพิ่มโทษได้กึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 หรือเพิ่มโทษได้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เมื่อคำขอท้ายฟ้องของโจทก์คงระบุเพียงว่าขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย ไม่แน่ชัดว่าประสงค์ให้เพิ่มโทษตามบทกฎหมายใด จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามสำหรับความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงชอบแล้ว และเมื่อจะต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองในการกระทำความผิดฐานนี้ด้วยย่อมเพิ่มโทษปรับได้เพราะเป็นกรณีมีการลงโทษในการกระทำความผิดฐานนี้ถึงจำคุก มิใช่ลงโทษฐานนี้เพียงปรับสถานเดียว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 มาในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จำคุก 5 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนฯ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ความผิดของจำเลยที่ 2 แต่ละกระทงเข้าหลักเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษได้แล้ว ย่อมต้องเพิ่มโทษทุกกระทงความผิด ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 เฉพาะกระทงความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแต่เพียงกระทงเดียวจึงไม่ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 สำหรับความผิดกระทงอื่นได้อีก เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมานั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานนี้เสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองเฉพาะความผิดฐานนี้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นลงโทษจำเลยทั้งสอง จำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 533,333.33 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน และปรับ 533,333.33 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี 22 เดือน 20 วัน และปรับ 355,555.56 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์