คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5918/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามฟ้องโจทก์ปรากฏแต่เพียงลายมือชื่อผู้พิมพ์และผู้เรียงเท่านั้น ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์ จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) หากศาลชั้นต้นตรวจพบข้อผิดพลาดดังกล่าวก็จะใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 สั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้องได้ แต่ถ้าศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้ว การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งกรณีดังกล่าวไม่เข้าเหตุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ย่อมไม่มีวิธีปฏิบัติเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 357 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนไมโครโฟน 1 อัน แก่ผู้เสียหาย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 800 บาท และนับโทษต่อด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1854/2545 และ 309/2546 ของศาลชั้นต้น นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 189/2545, 302/2545, 475/2545 และ 953/2545 ของศาลชั้นต้น นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 189/2545, 302/2545 และ 309/2546 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 309/2546 และ 481/2546 ของศาลชั้นต้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ และของกลางในความผิดฐานรับของโจรผู้เสียหายได้รับคืนไปแล้ว จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาไมโครโฟน 1 อัน ราคา 800 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องเนื่องจากโจทก์มิได้ลงชื่อไว้ในฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในฟ้อง มีผลเพียงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) เท่านั้น ซึ่งเป็นกรณีที่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องหรือสั่งไม่ประทับฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นประทับฟ้องคดีนี้และดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นโดยไม่ได้สั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องเสียก่อนถือได้ว่าเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ชอบที่จะพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” ตามฟ้องโจทก์คงปรากฏแต่เพียงลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์เท่านั้นไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์ จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) หากศาลชั้นต้นตรวจพบข้อผิดพลาดดังกล่าวก็จะใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 สั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้องได้ แต่ถ้าศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้ว การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งกรณีดังกล่าวก็ไม่เข้าเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ย่อมไม่มีวิธีปฏิบัติเป็นประการอื่นนอกจากต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์เสีย ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share