คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยที่1ถูกบ.ฟ้องฐานละเมิดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนและเรียกทรัพย์คืนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่1ชำระหนี้แก่บ. จำเลยที่1และบ.ต่างยื่นฎีกาสำหรับจำเลยที่1ได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความร่วมกับทนายความคนเดิมของจำเลยที่1ดำเนินคดีในชั้นฎีกาโจทก์จึงได้ทำคำแก้ฎีกาและทำคำร้องขอทุเลาการบังคับชั้นฎีกายื่นต่อศาลส่วนคำฟ้องฎีกานั้นโจทก์ก็เป็นผู้ยกร่างฎีกาเป็นบางส่วนซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับโดยจำเลยที่1ไม่ต้องมีหลักประกันมาวางศาลและจำเลยที่1ไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บ. เช่นนี้การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในชั้นฎีกาถือได้ว่ามีส่วนเป็นผลให้งานสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ การที่ศาลฎีกาจะพิจารณาพิพากษาคดีย่อมต้องพิจารณาจากคำฟ้องฎีกาและคำแก้ฎีกาเป็นสำคัญก่อนแล้วจึงพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนจึงจะวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินได้หาใช่ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนแต่อย่างเดียวไม่ การคิดจำนวนสินจ้างจำเป็นต้องตีความสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีทั่วไปด้วยและโดยที่คดีที่โจทก์รับจ้างว่าความมีทุนทรัพย์เกือบถึง100,000,000บาทจำเลยที่1แพ้คดีศาลล่างทั้งสองศาลมาแล้วและโจทก์ตั้งที่ปรึกษาหลายคนเป็นคณะทำงานประกอบกับต้องทำงานอย่างรีบเร่งเพื่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของจำเลยที่1ที่ประกอบธุรกิจธนาคารที่ถูกลูกค้าของธนาคารฟ้องฐานละเมิดหากจำเลยที่1จะจ้างทนายความอื่นก็น่าจะต้องเสียค่าจ้างไม่น้อยกว่าที่จ้างโจทก์จึงเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้โจทก์เป็นเงิน3,000,000บาทนั้นเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2523 จำเลยที่ 1ถูกบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนทุนทรัพย์ 99,605,667.69 บาท ศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 31,247,056.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนอีกจำนวน 23,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน500,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและอีกปีละ 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 250,000 บาท นายตามใจ ขำภโต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อว่าจ้างโจทก์ยื่นฟ้องฎีกา โดยตกลงจะให้ค่าจ้างร้อยละ 7ของทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถูกบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัดฟ้อง และขอทุเลาการบังคับ โจทก์ได้ตั้งทนายความหลายคนเป็นคณะทำงาน โจทก์และคณะทำงานได้ใช้เวลาเกือบ 1 เดือน ในการศึกษาค้นคว้าเอกสารของธนาคารเขียนและพิมพ์คำฟ้องฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับแล้ว โจทก์ได้นำไปยื่นต่อศาลจังหวัดนครปฐมต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์เป็นประกัน ในที่สุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2529ศาลฎีกาได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิดต่อบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนด 500,000 บาท และ 250,000 บาทตามลำดับให้เป็นพับ การทำงานของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ค่าฤชาธรรมเนียมตลอดจนค่าทนายความให้แก่บริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด เป็นจำนวนประมาณ 60,000,000 บาทอันเป็นความสำเร็จที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างว่าความจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า คณะทำงานซึ่งเป็นฝ่ายกฎหมายของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยกร่างฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับชั้นฎีกาโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากโจทก์ โจทก์เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้พิมพ์และตกเติมข้อความบางส่วน จำเลยทั้งสามไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความยื่นฟ้องฎีกา ผลของคำฟ้องฎีกาศาลฎีกาเพียงแต่พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับเท่านั้น โดยศาลฎีกาพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ทนายความคนเดิมของจำเลยที่ 1 ดำเนินการไว้ส่วนคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับศาลฎีกาก็พิจารณาสั่งตามรูปคดี ไม่เกี่ยวข้องกับคำร้องขอทุเลาการบังคับที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด โจทก์มิได้ดำเนินการใด ๆ ให้เป็นผลดีแก่คดี หากโจทก์จะเรียกค่าจ้างก็ไม่ควรได้เกินกว่า 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงว่า การทำงานของโจทก์เป็นผลสำเร็จหรือไม่ และโจทก์ควรได้รับค่าจ้างเพียงใด ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า เหตุที่โจทก์จะเป็นทนายความให้จำเลยที่ 1 ในชั้นฎีกา สืบเนื่องมาจากเดิมจำเลยที่ 1 ถูกบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด ฟ้องฐานละเมิดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนและเรียกทรัพย์คืนรวมเป็นเงิน 99,605,667.69บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 31,247,056.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนอีกจำนวน 23,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 500,000 บาท ศาลจังหวัดนครปฐมได้ออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่สาขานครปฐม หลังจากที่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยที่ 1 เป็นผลให้จำเลยที่ 1 ต้องนำพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 100,000,000 บาท มาวางศาลศาลจังหวัดนครปฐมจึงได้มีคำสั่งงดการบังคับคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 8,000,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินจำนวนนี้เสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระอีกปีละ 4,000,000 บาท ทุก ๆ หนึ่งปี พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จะต้องชำระเงินแต่ละยอดจนกว่าจะชำระเสร็จและให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 250,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครปฐม ซึ่งศาลจังหวัดนครปฐมได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่21 มีนาคม 2528 นายตามใจ ขำภโต ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ 1 ขณะนั้นเห็นว่าเป็นคดีสำคัญ เพื่อป้องกันความเสียหายและชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 เห็นสมควรตั้งโจทก์เป็นทนายความร่วมกับทนายความของจำเลยที่ 1 เพื่อยื่นฎีกาซึ่งโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.8 แล้วโจทก์ได้ทำคำแก้ฎีกาที่บริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด ฎีกา และทำคำร้องขอทุเลาการบังคับในชั้นฎีกาซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต โดยจำเลยที่ 1ไม่ต้องนำหลักทรัพย์มาวางศาล ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองและค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับสำหรับคำฟ้องฎีกานั้นได้ความว่า โจทก์ได้ยกร่างฎีกาขึ้น 1 ฉบับตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคำฟ้องฎีกาในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 621/2526 ของศาลจังหวัดนครปฐมแล้วตัวอักษรตามเอกสารทั้งสองฉบับตั้งแต่แผ่นที่ 1 ถึงแผ่นที่ 20จะสามารถซ้อนกันได้พอดี ส่วนข้อความตั้งแต่แผ่นที่ 21 จนถึงแผ่นที่ 27 หน้าแรก ข้อความไม่ตรงกัน แต่มีข้อความซึ่งเป็นแนวทางต่อสู้คดีที่คล้ายคลึงกันและข้อความในคำฟ้องฎีกาต่อมาตั้งแต่แผ่นที่ 27 หน้าที่ 2 จนถึงแผ่นที่ 34 ก็มีข้อความเหมือนกับร่างฎีกาเอกสารหมาย ล.1 ทุกประการ ซึ่งข้อความในคำฟ้องฎีกาดังกล่าวมีรายการคดีส่วนที่เป็นข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 หน้าแรก เป็นต้นไป แสดงว่าโจทก์เป็นผู้ยกร่างฎีกาในคดีดังกล่าวเป็นบางส่วน เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในชั้นฎีกาถือได้ว่ามีส่วนเป็นผลให้งานสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเป็นผลให้ศาลฎีกาอนุญาตให้ทุเลาการบังคับโดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องมีหลักประกันมาวางศาล และจำเลยที่ 1 ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทพิพัทธ์ประกันภัยจำกัด ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนนั้น เห็นว่า การที่ศาลฎีกาจะพิจารณาพิพากษาคดีย่อมต้องพิจารณาจากคำฟ้องฎีกาและคำแก้ฎีกาเป็นสำคัญก่อน แล้วจึงพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนจึงจะวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินได้ หาใช่ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนแต่อย่างเดียวไม่ และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ควรได้ค่าจ้างไม่เกิน 100,000 บาท นั้น เห็นว่า แม้จะมิได้ตกลงกันในเรื่องสินจ้างว่าได้ตกลงค่าจ้างกันร้อยละ 7 ของทุนทรัพย์ในคดีดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นที่เห็นได้ว่าได้มีสัญญาผูกพันจำเลยที่จะต้องจ่ายสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น และการคิดจำนวนสินจ้างจำเป็นต้องตีความสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีทั่วไปด้วย และโดยที่คดีดังกล่าวมีทุนทรัพย์เกือบถึง 100,000,000 บาท จำเลยที่ 1แพ้คดีศาลล่างทั้งสองศาลมาแล้ว และโจทก์ตั้งที่ปรึกษาเป็นคณะทำงานประกอบกับต้องทำงานอย่างรีบเร่ง เพื่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของจำเลยที่ 1 ที่ประกอบธุรกิจธนาคารที่ถูกลูกค้าของธนาคารฟ้องฐานละเมิด หากจำเลยที่ 1 จะจ้างทนายความอื่นก็น่าจะต้องเสียค่าจ้างไม่น้อยกว่าที่จ้างโจทก์ จึงเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท นั้นเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน3,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนโจทก์ เว้นค่าทนายความ โจทก์ยื่นคำฟ้องฎีกาเอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share