แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาลพร้อมคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของโจทก์ไปในทันทีโดยที่ยังมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายมีโอกาสคัดค้าน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ และถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องได้
(คำสั่งศาลฎีกา)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ส่งมอบ น.ส.3 ก. เลขที่ 1430 ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเพิกถอนหรือแก้ไข หากขัดขืนขอให้จำเลยที่ 1 ออกเอกสารสิทธิใบแทน แล้วทำการเพิกถอนหรือแก้ไข หากขัดขืนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันแก้ไขชื่อใน น.ส.3 ก. ดังกล่าวให้เป็นชื่อโจทก์ หากขัดขืนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 และได้ดำเนินการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองแก้
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม ศาลจังหวัดนครราชสีมาตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ และที่ดินพิพาทมีราคาประเมินเป็นเงิน 59,000 บาท เมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครราชสีมาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17, 25 (4) คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดนครราชสีมาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 จึงมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงนครราชสีมาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่
วันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมของศาลแขวงนครราชสีมาศาลแขวงนครราชสีมา เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ (คดีไม่มีทุนทรัพย์) เพราะจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ 1 ก็มิได้กล่าวแก้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 อันจะถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครราชสีมาการที่ศาลแขวงนครราชสีมามีคำสั่งให้รับโอนคดีนี้ไว้พิจารณาจึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงอาศัยอำนาจตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงให้เพิกถอนคำสั่งเดิมเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดีไว้พิจารณาพร้อมกับส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดนครราชสีมา
วันที่ 3 กันยายน 2546 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมของศาลจังหวัดนครราชสีมา ศาลจังหวัดนครราชสีมาได้ตรวจคำฟ้องและคำให้การจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่า คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันมีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครราชสีมา และได้อธิบายให้คู่ความฟัง ทนายโจทก์แถลงว่าเมื่อคดียังไม่แน่ว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด โจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาภายใน 15 วัน
วันที่ 17 กันยายน 2546 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดนครราชสีมาที่ให้โอนคดีไปยังศาลแขวงนครราชสีมาพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ และมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในการอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกานั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ บัญญัติไว้ กล่าวคือ ผู้อุทธรณ์จะต้องทำเป็นคำร้องมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์แล้วหากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ก็ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องนั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่และให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาลพร้อมคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลจังหวัดนครราชสีมาได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของโจทก์ไปทันทีโดยที่ยังมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายมีโอกาสคัดค้าน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ คำสั่งของศาลจังหวัดนครราชสีมาดังกล่าวจึงไม่อาจมีผลทำให้อุทธรณ์ของโจทก์ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวโดยชอบได้ คดีจึงยังไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ให้ได้ และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดนครราชสีมาถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง แต่เนื่องจากคดีนี้ได้พ้นระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองจะยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านไว้ด้วย”
พิพากษายกคำสั่งศาลจังหวัดนครราชสีมาที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาดำเนินการเรื่องการส่งสำเนาคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแก่จำเลยทั้งสอง โดยให้ศาลจังหวัดนครราชสีมากำหนดไว้ในหมายนัดว่า หากจำเลยทั้งสองจะคัดค้านคำร้องดังกล่าวประการใดก็ให้ยื่นคำคัดค้านภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาคำร้อง มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี