แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาคใดมีเขตอำนาจเพียงใดจะต้องเป็นไปตามที่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ. 2532 และพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน ที่ตั้ง เขตศาลและวันเปิดทำการของ ศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ. 2532 กำหนดไว้ มิใช่คู่ความเลือกเองได้การที่โจทก์ขออุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งมิได้มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี อันเป็นการเข้าใจผิดหรือพิมพ์ผิดพลาดเมื่อศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์แล้วส่งมายังศาลอุทธรณ์ภาค 2ซึ่งมีเขตอำนาจตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจพิพากษาได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันสั่งซื้อข้าวสารไปจากโจทก์หลายครั้ง โดยจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มาติดต่อขอซื้อข้าวสารจากโจทก์ และค้างชำระราคาอยู่ตามจำนวนที่ฟ้อง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์ ไม่มีข้อหาว่าจำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1และเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 อันพอจะถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้เชิดจำเลยที่ 2 หรือยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการซื้อสินค้าของโจทก์ไป ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วยนั้น จึงเป็นการนอกคำฟ้องและนอกข้อหาของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอาชีพรับจ้างเสริมสวยและค้าขายข้าวสารโดยติดต่อซื้อข้าวสารจากโรงสีเพื่อขายต่อให้จำเลยทั้งสองเมื่อระหว่างวันที่ 30 เมษายน 2531 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2531จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันสั่งซื้อข้าวสารชนิดต่าง ๆ ปลายข้าวและรำละเอียดไปจากโจทก์หลายครั้ง โดยจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มาติดต่อซื้อจากโจทก์ จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้ร่วมกันค้าขายข้าวสารกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของร้านสุขสมบูรณ์และเป็นผู้ค้าขายข้าวสารรายใหญ่ มีรายการสั่งซื้อจากต่างประเทศต้องการซื้อข้าวสารจำนวนมากจึงให้โจทก์หาซื้อข้าวสารมาขายแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ได้ส่งมอบข้าวสารชนิดต่าง ๆปลายข้าวและรำละเอียด ตามที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อหลายครั้งคิดเป็นเงิน 2,966,275 บาท จำเลยทั้งสองได้รับมอบสินค้าที่สั่งซื้อแล้วจำเลยทั้งสองได้ชำระราคาสินค้าแก่โจทก์เพียงบางส่วนคงค้างชำระอีก 1,454,675 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 1,454,675 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2531 ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 176,076.25 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 1,630,751.25 บาท และร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 1,454,675 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จักและไม่เคยซื้อข้าวสารจากโจทก์และไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปติดต่อขอซื้อข้าวสาร ปลายข้าวและรำ จากโจทก์ ไม่เคยรับมอบสินค้ารวมเป็นเงิน 2,966,275 บาท ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน1,630,751.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,454,675 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 1,630,751.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,454,675 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ในข้อแรกมีว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 หากแต่ขออุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งมิได้มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้เพราะมิใช่ศาลที่โจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาคใดมีเขตอำนาจเพียงใดจะต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ. 2532 และพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนที่ตั้ง เขตศาลและวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ. 2532 กำหนดไว้ มิใช่คู่ความเลือกเองได้ การที่โจทก์ขออุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งมิได้มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเห็นได้ว่าเป็นการเข้าใจผิดหรือพิมพ์ผิดพลาด เมื่อศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์แล้วส่งมายังศาลซึ่งมีเขตอำนาจตามกฎหมายศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงมีอำนาจพิพากษาคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษานอกข้อหาของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 มีอาชีพค้าขายได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับซื้อข้าวสารไปจากโจทก์ เมื่อระหว่างวันที่ 30 เมษายน 2531 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันสั่งซื้อข้าวสารชนิดต่าง ๆ ไปจากโจทก์หลายครั้งหลายหน โดยจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2เป็นผู้มาติดต่อขอซื้อข้าวสารจากโจทก์และบุคคลอื่น ๆ อีกหลายคนโจทก์ส่งมอบข้าวสารชนิดต่าง ๆ ให้ตามที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อหลายครั้ง จำเลยทั้งสองได้รับมอบสินค้าที่สั่งซื้อและชำระราคาให้โจทก์แล้วบางส่วน คงค้างชำระอยู่เป็นเงิน 1,456,675 บาทอันเป็นข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ส่วนคำขอบังคับก็คือขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์อันเป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ไม่มีข้อหาว่าจำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 อันพอจะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิดจำเลยที่ 2หรือยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในการซื้อสินค้าของโจทก์ไปแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ในการซื้อข้าวสารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วยนั้น จึงเป็นการตัดสินนอกคำฟ้องและนอกข้อหาของโจทก์ ต้องห้ามตามมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247มีเหตุอันสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาใหม่ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาคดีใหม่