คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(3) มิได้บัญญัติว่า ข้อความที่ขอแก้ไขคำให้การจำเลยใหม่จะต้องเกี่ยวกับคำให้การเดิมหรือข้ออ้างเดิมของจำเลยคงบัญญัติห้ามเฉพาะเรื่องคำฟ้องเท่านั้น ฉะนั้นแม้การแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 จะเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือไม่ก็ย่อมกระทำได้
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขภายหลังจากวันสืบพยานโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180
จำเลยที่ 1 ให้การไว้ว่า โจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยสั่งจ่ายเช็คและจำเลยที่ 2ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์แล้วก็ต้องถือว่าโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วคำให้การดังกล่าวจำเลยที่ 1 รับว่า โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กับจำเลยที่ 2และเงินที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินของโจทก์ ส่วนคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 ขอเพิ่มเติมว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ในขณะที่นำมาทำสัญญาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ได้โอนและส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของ ท. แล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์กรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่มีผลผูกพันคู่กรณีเงินค่าเบี้ยประกันภัยไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น คำให้การกับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1จึงขัดแย้งกันเอง หากศาลอนุญาตแล้วย่อมจะทำให้กลายเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ส่วนที่โจทก์ได้ชำระเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องชำระจริงให้แก่จำเลยที่ 2เนื่องจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 กระทำการโดยทุจริต

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนกระทำละเมิดต่อโจทก์และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 ขอแก้ไขคำให้การภายหลังที่มีการสืบพยานโจทก์บ้างแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นการแก้ไขคำให้การเพิ่มเติมประเด็นเข้ามาใหม่ และเป็นการขอแก้ไขภายหลังที่มีการสืบพยานโจทก์แล้ว ทั้งประเด็นที่ขอแก้ไขมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกเบี้ยประกันภัยคืน ให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การตามคำร้องลงวันที่ 21 ตุลาคม 2542 โดยขอเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 ต่อจากข้อ 1 หน้า 1 ด้านหลังเป็นบรรทัดที่ 16 ว่า “และจำเลยที่ 1 ขอให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตามฟ้องในขณะที่นำมาทำสัญญาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้อง เพราะโจทก์ได้โอนและส่งมอบการครอบครองรถยนต์ดังกล่าวให้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของนายทวี ศรีสมบูรณานนท์ และกลุ่มนิมิตแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันคู่กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 863 อีกทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายเกินแม้หากมีจำนวน 1,793,327 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง เพราะเงินค่าเบี้ยประกันภัยตามฟ้องเป็นทรัพย์ของนายทวี ศรีสมบูรณานนท์ และกลุ่มนิมิต ไม่ใช่ทรัพย์ของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 บัญญัติว่า”โจทก์หรือจำเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียง อันกล่าวไว้ในคำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้ การแก้ไขนั้นโดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้ (1) เพิ่มหรือลดจำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ(2) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคำฟ้องเพิ่มเติม หรือเสนอคำฟ้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือ (3) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลังหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาลไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้” จากบทบัญญัติข้างต้นมิได้บัญญัติว่า ข้อความที่ขอแก้ไขคำให้การจำเลยใหม่นั้นจะต้องเกี่ยวกับคำให้การเดิมหรือข้ออ้างเดิมของจำเลย คงบัญญัติห้ามเฉพาะเรื่องคำฟ้องเท่านั้น ฉะนั้น แม้การแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 จะเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือไม่ก็ย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(3) และแม้การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องขอแก้ไขภายหลังจากวันสืบพยานโจทก์ก็ทำได้ โดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 เคยยื่นคำให้การไว้เดิมตามคำให้การจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2541ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยสั่งจ่ายเช็ค และจำเลยที่ 2 ได้นำเช็คค่าเบี้ยประกันภัยไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว… เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์แล้วก็ต้องถือว่าโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว… คำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 รับว่าโจทก์เป็นผู้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ตามฟ้องกับจำเลยที่ 2 และเงินที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินของโจทก์ ส่วนคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 ขอแก้ไขคำให้การจำเลยที่ 1 โดยเพิ่มเติมข้อความว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตามฟ้องในขณะที่นำมาทำสัญญาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้อง เพราะโจทก์ได้โอนและส่งมอบการครอบครองรถยนต์ดังกล่าวให้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของนายทวี ศรีสมบูรณานนท์และกลุ่มนิมิตแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันคู่กรณี เงินค่าเบี้ยประกันภัยไม่ใช่ทรัพย์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เช่นนี้ คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1ดังกล่าว เท่ากับจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ที่เอาประกันภัย เงินที่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยไม่ใช่ของโจทก์ ดังนั้น คำให้การจำเลยที่ 1 กับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 จึงขัดแย้งกันเอง หากศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวแล้วย่อมจะทำให้คำให้การจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกัน กลายเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งจะทำให้ไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ที่เอาประกันภัยหรือไม่ เงินที่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยใช่เงินของโจทก์หรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาจึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้องดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 ตามคำร้องดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share