คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4590/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

มาตรา 78 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ และไม่มีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมฯ และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงเห็นได้ว่า มาตรา 78 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่ลิขสิทธิ์ของนักแสดงเป็นสิทธิข้างเคียง (Related Rights หรือ Neighboring Rights) ของลิขสิทธิ์ แม้จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์เช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่สิทธิอย่างเดียวกันกับลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ยังได้บัญญัติแยกลิขสิทธิ์ไว้ในหมวด 1 และสิทธิของนักแสดงไว้ในหมวด 2 ทั้งเมื่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ประสงค์ให้ใช้บังคับบทบัญญัติใดแก่ทั้งลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงระหว่างประเทศ และมาตรา 62 – 66 ในหมวด 6 ว่าด้วยคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง นอกจากนี้ในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิของนักแสดง ก็มีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับประเภทของสิทธินักแสดง เงื่อนไขแห่งการได้มาซึ่งสิทธิ อายุแห่งการคุ้มครอง การโอนสิทธิ การละเมิดสิทธิของนักแสดงและข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิตามมาตรา 44 ถึงมาตรา 52 แม้กฎหมายจะบัญญัติให้นำบทบัญญัติข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิ์มาใช้บังคับแก่สิทธิของนักแสดงโดยอนุโลมตามมาตรา 53 ก็ตาม ฉะนั้น การแสดงหรือบันทึกการแสดงของนักแสดงที่ได้จัดทำขึ้นก่อนการใช้บังคับของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง การที่โจทก์รับจ้างขับร้องเพลงโดยบันทึกเสียงในห้องบันทึกระหว่างปี 2496 – 2510 ไม่ว่าจะมีสิทธิของนักแสดงหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่อยู่ภายในขอบเขตการคุ้มครองของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานละเมิดสิทธิของนักแสดงของโจทก์ ไม่ใช่ละเมิดลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง (มาสเตอร์เทป) และไม่ใช่กรณีพิพาทกันในเรื่องลิขสิทธิ์ในงานเพลงและสิ่งบันทึกเสียง (มาสเตอร์เทป) ที่เก็บไว้ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียวในงานเพลงและสิ่งบันทึกเสียง มาสเตอร์เทป) พิพาทจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 44, 45, 49, 50, 52, 53, 69, 74, 76, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และขอให้สั่งจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิของนักแสดง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ จำเลยที่ 1 กับที่ 2 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่โจทก์และจำเลยทั้งห้านำสืบรับและไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า ระหว่างปี 2496-2510 โจทก์รับจ้างขับร้องเพลงไทยสากลหลายพันเพลงโดยส่วนใหญ่จะทำการบันทึกเสียงในห้องบันทึกเสียงของจำเลยที่ 3 เพื่อทำแผ่นเสียงและทำเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ การบันทึกเสียงจะทำเป็นมาสเตอร์เทปก่อน แล้วจึงนำไปผลิตแผ่นเสียง ต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 แต่งตั้งมอบอำนาจให้นายสุรพล ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เช่าหรือใช้สิทธิในลิขสิทธิ์เพลงไปผลิตแผ่นซีดีเพลงที่มีเสียงขับร้องของโจทก์และเสียงดนตรีตามต้นฉบับเดิมที่บันทึกเสียงลงมาสเตอร์เทปดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 นำแผ่นซีดีเพลงออกขายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อหากำไรทางการค้า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าการแสดงหรือบันทึกการแสดงของนักแสดงที่ได้จัดทำขึ้นก่อนการใช้บังคับของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 78 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หรือไม่ ในปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยว่าสิทธิของนักแสดงที่เกิดขึ้นก่อนการใช้บังคับของพระราชบัญญัติลุขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 78 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า สิทธิของนักแสดงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว เห็นว่า มาตรา 78 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ควมคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ และไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งเห็นได้ว่า มาตรา 78 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่สิทธิของนักแสดงเป็นสิทธิข้างเคียง (Related Rights หรือ Neighboring Rights) ของลิขสิทธิ์ แม้จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์เช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่สิทธิอย่างเดียวกันกับลิขสิทธิ์ นอกจากนี้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ยังได้บัญญัติแยกลิขสิทธิ์ไว้ในหมวด 1 และสิทธิของนักแสดงไว้ในหมวด 2 ทั้งเมื่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ประสงค์ให้ใช้บังคับบทบัญญัติใดแก่ทั้งลิขสิทธิ์ของนักแสดงก็จะบัญญัติไว้ชัดเจน เช่น มาตรา 61 ในหมวด 5 ว่าด้วยลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงระหว่างประเทศ และมาตรา 62-66 ในหมวด 6 ว่าด้วยคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง นอกจากนี้ในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิของนักแสดง ก็มีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับประเภทของสิทธิของนักแสดง เงื่อนไขแห่งการได้มาซึ่งสิทธิ อายุแห่งการคุ้มครอง การโอนสิทธิ การละเมิดสิทธิของนักแสดง และข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิตามมาตรา 44 ถึงมาตรา 52 แม้กฎหมายจะบัญญัติให้นำบทบัญญัติข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์มาใช้บังคับแก่สิทธิของนักแสดงโดยอนุโลมตามมาตรา 53 ก็ตาม ฉะนั้น การแสดงหรือบันทึกการแสดงของนักแสดงที่ได้จัดทำขึ้นก่อนการใช้บังคับของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง การที่โจทก์รับจ้างขับร้องเพลงโดยบันทึกเสียงในห้องบันทึกระหว่างปี 2496-2510 ไม่ว่าจะมีสิทธิของนักแสดงหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่อยู่ภายในขอบเขตการคุ้มครองของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียวในงานเพลงและสิ่งบันทึกเสียง (มาสเตอร์เทป) พิพาท โจทก์ไม่มีลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกเสียง (มาสเตอร์) ซึ่งบันทึกเสียงโจทก์และเก็บไว้ที่จำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า คดีโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของนักแสดงของโจทก์ ไม่ใช่ละเมิดลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง (มาสเตอร์เทป) และไม่ใช่กรณีพิพาทกันในเรื่องลิขสิทธิ์ในงานเพลงและสิ่งบันทึกเสียง (มาสเตอร์เทป) ที่เก็บไว้ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน

Share