แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับมารดาโจทก์เปิดบัญชีร่วมกันประเภทบัญชีเงินฝากประจำและฝากเงินไว้ต่อธนาคารจำเลยสาขาฝาง ว. ทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากจำเลย โดยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และ ส. กับโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับ ว. อย่างลูกหนี้ร่วม ว. ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยฟ้อง ว. ส. และโจทก์ให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส. และโจทก์ร่วมกันชำระหนี้ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนอง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของบุคคลทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยจนครบ จำเลยนำหนี้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่นั้นฟ้องบุคคลทั้งสามเป็นคดีล้มละลาย ต่อมาจำเลยพบว่าโจทก์กับมารดาโจทก์มีบัญชีเงินฝากดังกล่าวอยู่ที่จำเลยสาขาฝาง จำเลยจึงดำเนินการหักเงินจากบัญชีดังกล่าวมาชำระหนี้จำเลย ต่อมาจำเลยถอนฟ้องคดีล้มละลาย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธินำเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้ต่อจำเลยมาหักกับหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยหักกลบลบหนี้กับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 ซึ่งโจทก์และจำเลยมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้ที่จะต้องชำระเงินแก่กันอันเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่จะต้องชำระเงินแก่จำเลยตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยก็เป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องชำระเงินที่โจทก์ฝากไว้แก่โจทก์ จำเลยย่อมหักกลบลบหนี้ได้ และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาต่อโจทก์ขอหักกลบลบหนี้และได้ดำเนินการหักกลบลบหนี้แล้ว การหักกลบลบหนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่า การหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องตกลงกันหรือได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งหรือต้องแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่แก่กันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กันได้ แม้โจทก์ไม่เคยตกลงและไม่อนุญาตให้จำเลยหักเงิน จำเลยหักเงินของโจทก์ไปเองโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบก็หาเป็นการละเมิดหรือผิดสัญญารับฝากเงินตามที่โจทก์ฟ้องไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 385,442.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 374,975 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 374,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 10,467.90 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2539 โจทก์กับนางบุญศรี มารดาโจทก์ เปิดบัญชีร่วมกันประเภทบัญชีเงินฝากประจำ และฝากเงินไว้ต่อจำเลยสาขาฝาง ตามบัญชีเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน เลขที่ 374-211430-3 ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2539 นายวีระพล ทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากจำเลยสาขาฝาง 900,000 บาท โดยนายวีระพลจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และนางสมสวัสดิ์ กับโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับนายวีระพลอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากกู้ไปแล้วนายวีระพลผิดนัดผิดสัญญา ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยฟ้องนายวีระพล นางสมสวัสดิ์ และโจทก์ให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2543 ให้นายวีระพล นางสมสวัสดิ์และโจทก์ร่วมกันชำระหนี้ 882,585.55 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนอง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของบุคคลทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคารจำเลยจนครบ ตามคดีหมายเลขแดงที่ ย.75/2543 ของศาลชั้นต้น บุคคลทั้งสามไม่ชำระ จำเลยขอให้ออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 21 ธันวาคม 2543 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองนำออกขายทอดตลาด ก็ขายทอดตลาดได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ว่าเมื่อคิดถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2550 จำเลยเป็นเจ้าหนี้ 1,734,979.42 บาท จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแก่จำเลย 354,501 บาท จำเลยยังเป็นเจ้าหนี้อยู่ 1,380,478.42 บาท จำเลยนำหนี้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่นั้นฟ้องบุคคลทั้งสามเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 โดยจำเลยคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องล้มละลายรวมเป็นเงิน 1,518,475.71 บาท ต่อมาจำเลยพบว่าโจทก์กับนางบุญศรีมีบัญชีเงินฝากดังกล่าวอยู่ที่จำเลยสาขาฝาง ซึ่งเมื่อคิดถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 มีเงินอยู่ในบัญชี 749,950 บาท ดังนั้น ในวันที่ 21 ตุลาคม 2553 จำเลยจึงดำเนินการหักเงินจากบัญชีดังกล่าว โดยหักครึ่งหนึ่งจากจำนวนเงินที่มีอยู่ในวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ซึ่งก็คือหัก 374,975 บาท จากเงิน 749,950 บาท มาชำระหนี้จำเลย เดือนพฤศจิกายน 2553 จำเลยถอนฟ้องคดีล้มละลาย จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ถึงโจทก์ว่า นายวีระพลกับโจทก์เป็นหนี้จำเลยตามคำพิพากษาคดีดังกล่าว คิดคำนวณถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 เป็นหนี้ต้นเงิน 407,332.48 บาท ดอกเบี้ย 1,111,143.23 บาท รวม 1,518,475.71 บาท และเนื่องจากโจทก์มีบัญชีเงินฝากดังกล่าวอยู่กับจำเลย เพียงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 มียอดเงินฝากคงเหลือ 749,950 บาท โดยหนังสือฉบับนี้ จำเลยขอหักกลบลบหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงิน 374,975 บาท เมื่อหักแล้วโจทก์ยังมีภาระหนี้ค้างอยู่ 1,144,413.37 บาท โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธินำเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้ต่อจำเลยมาหักกับหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยหักกลบลบหนี้กับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341, 342 ซึ่งโจทก์และจำเลยมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้ที่จะต้องชำระเงินแก่กันอันเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่จะต้องชำระเงินแก่จำเลยตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยก็เป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องชำระเงินที่โจทก์ฝากไว้แก่โจทก์ จำเลยย่อมหักกลบลบหนี้กันได้ และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาต่อโจทก์ขอหักกลบลบหนี้และได้ดำเนินการหักกลบลบหนี้แล้ว การหักกลบลบหนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่า การหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้น จะต้องตกลงกันหรือได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งหรือต้องแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่แก่กันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กันได้ แม้โจทก์ไม่เคยตกลงและไม่อนุญาตให้จำเลยหักเงิน จำเลยหักเงินของโจทก์ไปเองโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบก็หาเป็นการละเมิดหรือผิดสัญญารับฝากเงินตามที่โจทก์ฟ้องไม่ และตามที่จำเลยนำสืบก็รับฟังได้ว่าเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วโจทก์ยังคงเป็นหนี้จำเลยอยู่อีก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ