คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15189/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว (4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น…” แม้ปรากฏว่ามี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2534 ก็ตาม แต่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม จนกว่าจะได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป หากจะถือว่าการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินแปลงใด มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติในทันที ก็จะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลใด ๆ บุกรุกเข้ามาทำประโยชน์หรือเข้าครอบครองที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 อันจะเป็นช่องว่างของกฎหมาย บทบัญญัตินี้จึงมุ่งหมายให้ ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรกรรมในพื้นที่ป่านั้นและจัดสรรให้ผู้ได้รับอนุญาตก่อน จึงจะถือเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของรัฐ เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนมได้ออกประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเกิดเหตุหลังจากที่ผู้ร้องถูกดำเนินคดีนี้แล้ว ดังนั้น ในขณะที่ผู้ร้องกระทำความผิดคดีนี้ ผู้ร้องจึงยังไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุ การจัดสรรที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินยังไม่เสร็จสิ้น ที่ดินเกิดเหตุจึงยังมีสภาพเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ การกระทำของผู้ร้องจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาผู้ร้องจะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินเกิดเหตุ ก็เป็นเพียงทำให้การครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของผู้ร้องนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดก่อนหน้าที่ผู้ร้องจะได้รับอนุญาต กรณีหาใช่เป็นเรื่องมีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังทำให้การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1392/2549 ของศาลชั้นต้น ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ในข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ได้ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่อ้างว่า ขณะเจ้าพนักงานจับกุมผู้ร้องนั้น ผู้ร้องเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงว่าที่ดินเนื้อที่ 11 ไร่ 48 ตารางวา ที่ครอบครองทำประโยชน์นั้นอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงรับสารภาพตามฟ้อง ผู้ร้องเพิ่งทราบในภายหลังว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2534 และผู้ร้องดำเนินการตามขั้นตอนจนได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน การที่ผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จึงไม่ใช่การครอบครองทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้องโจทก์ ผู้ร้องมีหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2534 แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาและประกาศผลการคัดเลือกเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปจังหวัดนครพนม ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าผู้ร้องไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 เห็นสมควรไม่รับคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลที่จะรับไว้ไต่สวน พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น รับคำร้องของผู้ร้อง ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและทำความเห็นมายังศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใหม่
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีความเห็นว่า คดีมีมูลที่จะรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 (ที่ถูก ต้องทำความเห็นตามมาตรา 13 (2))
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาใหม่เป็นว่า ผู้ร้องมิได้กระทำความผิดตามฟ้องตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 13 (2)
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาใหม่เป็นว่า ผู้ร้องมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 13 (2) นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว (4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น…” สำหรับข้อเท็จจริงในคดีนี้ แม้จะปรากฏว่ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2534 ก็ตาม แต่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวก็เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม จนกว่าจะได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป หากจะถือว่าการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินแปลงใด มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติในทันที ก็จะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลใด ๆ บุกรุกเข้ามาทำประโยชน์หรือเข้าครอบครองที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 อันจะเป็นช่องว่างของกฎหมาย บทบัญญัตินี้จึงมุ่งหมายให้ ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรกรรมในพื้นที่ป่านั้นและจัดสรรให้ผู้ได้รับอนุญาตก่อน จึงจะถือเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของรัฐ เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนมได้ออกประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเกิดเหตุเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ร้องถูกดำเนินคดีนี้แล้ว ดังนั้น ในขณะที่ผู้ร้องกระทำความผิดคดีนี้ ผู้ร้องจึงยังไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุ การจัดสรรที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินจึงยังไม่เสร็จสิ้น ที่ดินเกิดเหตุจึงยังมีสภาพเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ การกระทำของผู้ร้องจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมา ผู้ร้องจะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินเกิดเหตุ ก็เป็นเพียงทำให้การครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของผู้ร้องนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดก่อนหน้าที่ผู้ร้องจะได้รับอนุญาต กรณีหาใช่เป็นเรื่องมีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังทำให้การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นความผิดต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาใหม่เป็นว่า ผู้ร้องมิได้กระทำความผิดตามฟ้องตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 13 (2) นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share