แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่ ฝ. แทนเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4หรือไม่ โดยมิได้อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นประการอื่น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย
การที่จำเลยกู้ยืมเงิน ฝ. ฝ. คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำเลยออกเช็คฉบับแรกจำนวน 4,000,000 บาทให้แก่ ฝ. โดยรวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนไว้แล้ว ต่อมาธนาคารตามเช็คนั้นปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงออกเช็คให้แก่ ฝ. จำนวน2 ฉบับ ฉบับละ 2,000,000 บาท ซึ่งรวมทั้งเช็คพิพาท แสดงให้เห็นว่าเช็คพิพาทซึ่งออกเพื่อชำระหนี้ตามเช็คฉบับแรกมีมูลหนี้อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้รวมอยู่ ซึ่งการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้ ฝ. จะโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่ทราบว่ามีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยก็ตาม ก็ไม่ทำให้การออกเช็คพิพาทของจำเลยซึ่งไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายกลับมาเป็นความผิดขึ้นมาอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(5) ให้จำคุก1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า เดิมจำเลยกู้ยืมเงินจากนายฝ้าย โคกาอินทร์ ไปจำนวน 4,000,000 บาทแต่ไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือไว้ โดยจำเลยออกเช็คชำระหนี้ให้แก่นายฝ้ายจำนวน 4,000,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาธนาคารตามเช็คนั้นปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงออกเช็คให้แก่นายฝ้ายใหม่จำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ 2,000,000 บาท ซึ่งรวมเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 อยู่ด้วย จากนั้นนายฝ้ายนำเช็คพิพาทไปชำระหนี้เงินที่นายฝ้ายกู้ยืมจากโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท เมื่อหนี้เงินกู้ยืมระหว่างนายฝ้ายและจำเลยเกินกว่าห้าสิบบาทและไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมกันไว้เป็นหนังสือ จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมายมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 เพื่อชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเพราะเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เช่นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังเป็นยุติว่า การที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายฝ้ายแทนเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 หรือไม่ โดยมิได้อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นประการอื่น ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้โดยเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ได้แต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งศาลอุทธรณ์ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่า จำเลยออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 เพื่อชำระหนี้ให้แก่นายฝ้ายแทนเช็คตามเอกสารหมาย จ.4ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ย่อมเกิดเป็นหนี้ระหว่างนายฝ้ายกับจำเลยตามจำนวนที่ระบุในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 898, 900 จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่า หนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 และเช็คพิพาทมีมูลหนี้ที่ผิดต่อกฎหมายรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาดังกล่าวเท่านั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ชัดเจนขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3)(ก), 247ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ซึ่งในปัญหาดังกล่าวได้ความจากนายฝ้ายพยานโจทก์ว่า การที่จำเลยกู้ยืมเงินนายฝ้าย นายฝ้ายคิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนจำเลยออกเช็คจำนวน 4,000,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4ให้แก่นายฝ้าย โดยรวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนไว้แล้ว ต่อมาธนาคารตามเช็คนั้นปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงออกเช็คให้แก่นายฝ้ายใหม่จำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ 2,000,000 บาท ซึ่งรวมทั้งเช็คพิพาทแสดงให้เห็นว่าเช็คพิพาทซึ่งออกเพื่อชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4มีมูลหนี้อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้รวมอยู่ ซึ่งการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย การออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้นายฝ้ายจะโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่ทราบว่ามีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยก็ตาม ก็ไม่ทำให้การออกเช็คพิพาทของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายกลับเป็นความผิดขึ้นมาอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง