คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1316/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จ. ถึงแก่กรรม ที่ดินของ จ. จึงตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมรวมทั้ง ส. ซึ่งเป็นพระภิกษุ จ. ด้วย ที่ดินที่ ส. ได้รับมรดกมาเช่นนี้มิใช่ที่ดินของวัด แม้จะได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ ส. จึงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินส่วนของตนซึ่งยังมิได้แบ่งแยกจากที่ดินเดิมให้แก่โจทก์ได้ การที่ ส. ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จในเวลาต่อมาแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์และถึงแก่มรณภาพเสียก่อน ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสมบัติของวัดจำเลย โดยผลแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623
ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35 เป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285(4) ด้วย คำพิพากษาในส่วนที่ให้วัดจำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยสภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคสาม ก็บัญญัติให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ และมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไปจึงไม่อาจกระทำได้ ศาลฎีกาให้ยกเลิกการบังคับคดีแก่จำเลย
การแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกมาจากโฉนดเดิมไม่ถือว่าเป็นการจำหน่ายที่ดิน เพราะการจำหน่ายจะต้องเป็นการจดทะเบียนโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น การที่ ส. ซึ่งเป็นพระภิกษุดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินของตนเสร็จ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก่อนที่ ส. มรณภาพ จึงมิใช่ ส. โอนที่ดินให้แก่โจทก์ก่อน ส. มรณภาพ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นของวัดจำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับมรดกของพระครูสุวรรณสุนทรจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40191 แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย ให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 1,400,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดและอยู่ระหว่างศาลนัดพร้อมตามคำขอของโจทก์ให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษา

ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยผลของกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องรายงานขึ้นไปตามลำดับชั้นเพื่อตราออกเป็นพระราชบัญญัติก่อนตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 และกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2507) ข้อ 12, 13 ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ขอให้ยกเลิกการบังคับคดี

ศาลชั้นต้นยกคำร้อง และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 958 ตำบลทุ่งครุ (บ้านครุ) อำเภอราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร เป็นของนางจีบ สิงห์ครุ นางจีบมีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ นายชุ่ม เหมือนโพธิ์ทอง นางชื่น พึ่งสาย นางแช่ม จิตอาสาพระครูสุวรรณสุนทร และนางแฉล้ม เนียมนิล เมื่อนางจีบถึงแก่กรรมที่ดินข้างต้นตกแก่ทายาทดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2531พระครูสุวรรณสุนทรขณะเป็นเจ้าอาวาสจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนในโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ในราคา 2,100,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำ 600,000 บาทในวันทำสัญญาแล้ว พระครูสุวรรณสุนทรมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2ได้รังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยแบ่งแยกออกเป็นอีก 6 โฉนดรวมกับโฉนดที่ดินเดิมเป็น 7 โฉนด เฉพาะส่วนของพระครูสุวรรณสุนทรเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 40191 เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวาพระครูสุวรรณสุนทรมรณภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 ต่อมาโจทก์นำคดีมาฟ้องศาลศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในชั้นนี้ว่า มีเหตุต้องยกเลิกการบังคับคดีหรือไม่เห็นว่า เมื่อนางจีบถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมรวมทั้งพระครูสุวรรณสุนทรด้วย ที่ดินที่พระครูสุวรรณสุนทรได้รับมรดกมาเช่นนี้จึงมิใช่ที่ดินของวัดแม้จะได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศก็ตาม เมื่อพระครูสุวรรณสุนทรได้ขายที่ดินส่วนของตนซึ่งขณะนั้นยังมิได้แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 958 ย่อมทำสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์ได้ โดยนัดโอนกรรมสิทธิ์เมื่อแบ่งแยกเสร็จแล้ว การที่พระครูสุวรรณสุนทรได้ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 40191 เสร็จแล้วแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ และถึงแก่มรณภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าที่ดินพิพาทอันเป็นของพระครูสุวรรณสุนทรย่อมตกเป็นสมบัติของจำเลยที่ 1 โดยผลแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623 ซึ่งบัญญัติว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรมซึ่งโจทก์กล่าวในคำฟ้องก็ยอมรับว่าพระครูสุวรรณสุนทรได้มรณภาพลงโดยมิได้ทำพินัยกรรม โดยผลแห่งกฎหมายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสมบัติของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 33บัญญัติว่า ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัดมีดังนี้ (1) ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น (2) ที่ธรณีสงฆ์คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด(3) มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคสอง และมาตรา 35 บัญญัติว่า “ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี”และทรัพย์สินที่ตามกฎหมายไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีย่อมเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 285(4) ด้วย เมื่อกฎหมายมีข้อจำกัดเช่นนี้ คำพิพากษาในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคสาม ก็บัญญัติให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้เท่านั้น ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อให้จำเลยที่ 1ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไปนั้นจึงไม่อาจกระทำได้และกรณีนี้ศาลจะสั่งให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ก็ไม่ได้ เพราะเป็นการบังคับคดีผิดไปจากคำพิพากษา ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ถือว่าการแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทออกมาจากโฉนดเดิมเป็นการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะการจำหน่ายนั้นจะต้องเป็นการจดทะเบียนโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น และต้องเป็นการกระทำก่อนที่พระครูสุวรรณสุนทรมรณภาพกรณีมีเหตุให้ยกเลิกการบังคับคดี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”

พิพากษากลับ ให้ยกเลิกการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1

Share