คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9750/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายพร้อมกัน สิทธิของผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงยังไม่เกิด จึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของผู้รับประโยชน์ เงินตามสัญญาประกันชีวิตก็ไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่ ผู้เอาประกันภัยมีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย แต่แม้มิใช่มรดกของผู้เอาประกันภัยเพราะได้มาหลังจากผู้เอาประกันถึง แก่ความตายแล้ว จึงต้องอาศัยกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง เงินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาท โดยธรรมของผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 600,925.47 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินคนละ 573,695.58 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสาม ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายศมา ผู้เอาประกันภัยได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรวม 3 ฉบับ ฉบับที่ 1 ระบุชื่อจำเลยที่ 3 กับนายเชื้อ บิดาและมารดาของนายศมา และเด็กขายยศธร บุตรชอบด้วยกฎหมาย เป็นผู้รับประโยชน์ ฉบับที่ 2 และที่ 3 ระบุชื่อเด็กชายยศธรเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 เมื่อต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม 2538 นายศมา นางเชื้อ นางนงนุช และเด็กชายยศธรถูกร้ายฆ่าตายโดยไม่ปรากฏว่านายศมาและเด็กชายยศธร ใครถึงแก่ความตายก่อนหลังจึงถือว่านายศมาและเด็กชายยศธรถึงแก่ความตายพร้อมกัน ดังนั้น การที่กรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ระบุชื่อเด็กชายยศธรเป็นผู้รับประโยชน์ในกรณีที่นายศมาผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่ง บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นจะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนต้องอาศัยความตายของนายศมาผู้เอาประกันภัยเสียก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 เมื่อเกิดสิทธิโดยผู้เอาประกันภัยตายแล้ว บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 891 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์ แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วแต่ตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น หมายถึง กรณีที่ผู้เอาประกันภัยโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้ตามสัญญาประกันภัยให้แก่บุคคลอื่นขณะที่มีชีวิตอยู่ได้เสมอ แม้จะระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้หรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญานั้นแล้ว ผู้เอาประกันภัยจะโอนสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ได้ สำหรับกรณีของนายศมาซึ่งระบุในกรมธรรม์ประกันภัยให้ เด็กชายยศธรเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรง จึงมิใช่กรณีการโอนสิทธิตามสัญญาประกันภัยตามมาตรา 891 วรรคหนึ่ง แม้เด็กชายยศธรยังเป็นผู้เยาว์ต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของนายยศมาและนางนงนุชซึ่งเป็นบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 ก็ตาม แต่การที่นายยศมารับกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสามฉบับไว้ ก็ถือมิได้ว่าเป็นการโอนและรับโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 891 วรรคหนึ่ง แทนเด็กชายยศธรผู้เยาว์ แต่ถือได้ว่าเด็กชายยศธรเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยตามที่นายยศมาระบุไว้ในสัญญาประกันภัยทั้งสามฉบับเท่านั้น เด็กชายยศธรจะได้สิทธิในฐานะผู้รับประโยชน์ก็ขึ้นอยู่บนเงื่อนไขที่นายยศมาต้องถึงแก่ความตายก่อน และเด็กชายยศธรจะต้องมีหนังสือบอกกล่าว ไปยังจำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยว่า ตนจำนงจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญานั้น ตามมาตรา 889และ 374 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายโดยไม่ทราบว่าใครตายก่อนหลัง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 17 ให้ถือว่าตายพร้อมกันเช่นนี้ สิทธิของผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่เกิดจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของผู้รับประโยชน์ เงินตามสัญญาประกันชีวิตก็ไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่นายศมามีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย แต่แม้มิใช่มรดกของนายศมาเพราะได้มาหลังจากนายศมาถึงแก่ความตายแล้ว กรณีดังกล่าวต้องอาศัยกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง เงินดังกล่าวจึงควรตกแก่ทายาทโดยธรรมของนายศมาเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก การที่จำเลยที่ 1จ่ายสินไหมทดแทนแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายศมาจึงชอบแล้ว ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษา ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share