คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังเกิดเหตุละเมิด พ. เป็นผู้เจรจากับโจทก์หลายครั้งรวมทั้งที่บริษัทจำเลยที่ 3 โดยให้นามบัตรแก่โจทก์ซึ่งระบุว่าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 3 นอกจากนี้ พ. อยู่ที่บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นประจำซึ่งมีหน้าที่จ่ายงานในบริษัทจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ของ พ. ที่แสดงออกมาดังกล่าวดุจ พ. เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 3 แม้จะไม่มีชื่อ พ. เป็นกรรมการตามหนังสือรับรองบริษัทก็ตาม ย่อมก่อให้ผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเข้าใจและรับรู้ถึงอำนาจการจัดการของ พ. กรณีเป็นการที่จำเลยที่ 3 เชิด พ. ให้กระทำการแทน จำเลยที่ 3 โดยออกนอกหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 โจทก์ขับรถยนต์รับจ้างหมายเลขทะเบียน 8 ท-1784 กรุงเทพมหานคร ไปตามทางด่วนเฉลิมมหานครขณะจอดรถรอสัญญาณไฟบริเวณจุดลงทางด่วนท่าเรือคลองเตย จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 72-0794 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยความประมาทเลินเล่อชนท้ายรถยนต์รับจ้างที่โจทก์ขับอย่างแรง เป็นเหตุให้รถยนต์รับจ้างพุ่งชนรถยนต์ที่จอดอยู่ด้านหน้าเสียหาย โจทก์ซ่อมรถยนต์รับจ้างเสียค่าแรงงานและค่าอะไหล่รวมจำนวน 60,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถคิดเป็นเงินรวมจำนวน 30,000 บาท และขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับจากวันละเมิดถึงวันฟ้องรวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน94,549.31 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 94,549.31บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 90,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3ประกอบกิจการรับฝากสินค้า การที่ลูกค้าว่าจ้างรถยนต์ของผู้อื่นนำตู้สินค้ามาฝากไว้ในโรงเก็บสินค้าของจำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินความเป็นจริงขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินค่าซ่อมรถจำนวน 53,018 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจำนวน 30,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินสองจำนวนดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยค่าซ่อมรถให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2539 ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถให้คิดนับถัดจากวันฟ้อง และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม6,000 บาท ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 221 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงว่าจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3ฎีกาว่านายไพฑูรย์ ใจทัศน์กุล เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ซึ่งหนังสือรับรองก็ไม่ระบุว่านายไพฑูรย์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 ในสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย จ.8 ก็ไม่ระบุว่านายไพฑูรย์เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 นามบัตรของนายไพฑูรย์ที่ระบุว่าเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 3 เป็นการพิมพ์ขึ้นเองโดยจำเลยที่ 3 ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย การที่โจทก์มาพบนายไพฑูรย์ที่สำนักงานของจำเลยที่ 3 อาจเป็นเพราะนายไพฑูรย์มาติดต่อในเรื่องงาน เพราะจำเลยที่ 2 มีรถยนต์บรรทุกให้เช่าขนตู้สินค้า ส่วนจำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจรับฝากตู้สินค้า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เห็นว่า หลังเกิดเหตุรถยนต์ชนกันแล้ววันรุ่งขึ้นนายไพฑูรย์ได้เข้าไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์และเจ้าของรถยนต์คันอื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหายด้วยอีก 3 คัน โดยนายไพฑูรย์ได้มอบนามบัตรซึ่งระบุว่ามาจากบริษัทจำเลยที่ 3 แก่โจทก์ด้วย หากนายไพฑูรย์ไม่เข้าไปเจรจาดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจก็คงจะไม่ยอมปล่อยรถยนต์ของจำเลยที่ 2ออกมาเช่นนั้นเพราะขณะนั้นเจ้าพนักงานตำรวจก็ยังมิได้ตรวจสอบว่ารถยนต์บรรทุกพ่วงหมายเลขทะเบียน 72-0794 กรุงเทพมหานคร มีผู้ใดเป็นเจ้าของจึงไม่ได้ระบุในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องอย่างไรคงระบุแต่เพียงว่านายไพฑูรย์ตัวแทนของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 72-0794 กรุงเทพมหานคร คันที่เกิดเหตุเท่านั้น ซึ่งโจทก์และร้อยตำรวจโทไมตรี มิ่งบุญมีเจ้าพนักงานตำรวจย่อมเข้าใจในขณะนั้นว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุด้วย เพราะหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เข้ามอบตัวยอมรับสารภาพและยอมเสียค่าปรับและเอารถยนต์ออกไปแล้วร้อยตำรวจโทไมตรีจึงไม่ได้เรียกจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 3 มาสอบสวนอีก การที่ร้อยตำรวจโทไมตรีไม่ระบุในเอกสารหมาย จ.8 ให้ชัดเจนจึงไม่ใช่ข้อพิรุธ แม้นายไพฑูรย์จะเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 แต่ก็ไม่มีข้อห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3ด้วย และจำเลยที่ 3 ก็มิได้นำนายไพฑูรย์มาสืบแสดงให้เห็นว่าเหตุใดจึงพิมพ์นามบัตรว่าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 3 เช่นนั้น กับไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการใด ๆ แก่นายไพฑูรย์ ทั้งเมื่อนายไพฑูรย์ให้นามบัตรแก่โจทก์แล้วยังได้ให้รถลากนำรถยนต์ของโจทก์ไปซ่อนที่อู่ ป. ลาซาลที่ถนนสุขุมวิท ซอย 105 และนัดหมายให้โจทก์ไปพบในวันรุ่งขึ้นด้วยเมื่อโจทก์ไปแล้วไม่พบ วันรุ่งขึ้นโจทก์จึงไปพบนายไพฑูรย์ที่บริษัทจำเลยที่ 3ตามแผนที่ที่นายไพฑูรย์วาดไว้ให้ นายไพฑูรย์จ่ายค่าลากรถจำนวน 800 บาทให้เจ้าของอู่ และได้ตกลงกับเจ้าของอู่ที่เรียกค่าซ่อมก่อน 40,000 บาท โดยนัดให้มารับเงินที่บริษัทจำเลยที่ 3 วันรุ่งขึ้นเมื่อโจทก์กับภริยาเจ้าของอู่ไปขอรับเงินนายไพฑูรย์ก็ขอผัดผ่อน วันต่อมาโจทก์ไปที่บริษัทจำเลยที่ 3ก็พบนายไพฑูรย์อีก นายไพฑูรย์จึงท้าทายให้ไปฟ้องจะเห็นได้ว่านายไพฑูรย์ได้มาอยู่ที่บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นประจำ ซึ่งโจทก์ยืนยันว่านายไพฑูรย์มีหน้าที่จ่ายงานให้รถยนต์บรรทุกพ่วงในบริษัทจำเลยที่ 3 และเป็นผู้จัดการทั้งนายไพฑูรย์แจ้งแก่โจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อตอบคำถามค้านโจทก์ก็เบิกความว่า เห็นนายไพฑูรย์นั่งสั่งงานไม่เคยพบกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 ซึ่งนางสาวชนัญญา คงปรีชา พยานจำเลยที่ 3 ก็มิได้เบิกความให้เห็นเป็นอย่างอื่น คงเบิกความลอย ๆ ว่า นายไพฑูรย์มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของบริษัทจำเลยที่ 3 เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหากนายไพฑูรย์มิได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทจำเลยที่ 3 แล้ว นายไพฑูรย์จะเข้าไปอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 3 ได้อย่างไร พฤติการณ์ของนายไพฑูรย์ที่แสดงออกมาดังกล่าวดุจนายไพฑูรย์เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 3 แม้จะไม่มีชื่อนายไพฑูรย์เป็นกรรมการตามเอกสารหมาย จ.4 ก็ตาม ย่อมก่อให้ผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเข้าใจและรับรู้ถึงอำนาจการจัดการของนายไพฑูรย์กรณีเป็นการที่จำเลยที่ 3 เชิดนายไพฑูรย์ ให้กระทำการแทนจำเลยที่ 3 โดยออกนอกหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ร่วมเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างและต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้ในศาลชั้นต้นมีจำนวนทุนทรัพย์ 94,549.31 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทนายความ 5,000 บาท แก่โจทก์ จึงเกินอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้น และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท นั้น ไม่ชัดเจนว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้แก้ไขเรื่องค่าทนายความในศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท และให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายรวม 4,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 221 บาท แก่โจทก์

Share