คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2033/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส.สามีโจทก์กับ ล.สามีจำเลยมีนิติสัมพันธ์กัน โดย ล.ซึ่งมีสิทธิได้โควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยงวดละ 10 เล่มครึ่ง เมื่อ ล.มอบบัตรโควต้าของตนให้ ส.ไปรับแทน โดย ส.ต้องชำระเงินค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในนามของ ล.ไปก่อน ย่อมถือได้ว่า ล.ตัวการให้ ส.เป็นตัวแทนของตนในการทำการรับสลากกินแบ่งรัฐบาลจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย อันเป็นสัญญาตัวแทน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 797
ส.จ่ายเงินทดรองค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไปก่อนแทน ล.ตัวการส.จึงมีสิทธิเรียกเอาเงินชดใช้จาก ล.ตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา816 วรรคหนึ่ง และเมื่อ ส.กับ ล.ได้หักทอนบัญชีกันแล้วปรากฏว่า ล.ยังเป็นหนี้ส.อยู่อีกจำนวนมาก ล.จึงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้ แต่ ล.ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นการที่จำเลยซึ่งเป็นภริยาของ ล.โอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นภริยาของ ส. ย่อมถือได้ว่า ล.กับจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่ ส.โดยการโอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ จึงเป็นการที่ ส.ผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่าสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทที่ตีใช้หนี้เงินยืมมีราคาเท่าใด เท่ากับราคาในท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อมาตรา 656วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม การโอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์โดยความยินยอมของ ส.สามีโจทก์ย่อมไม่มีผลบังคับ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ แม้จะมีการทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าต่อการเคหะแห่งชาติ และโจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่การเคหะแห่งชาติเสร็จสิ้น ทั้งได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทมาเป็นของโจทก์แล้วก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทที่ให้จำเลยเช่าซื้อไม่

Share