แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำพิพากษาของศาลแขวงที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปีแต่มีผู้พิพากษาเพียงคนเดียวลงชื่อ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 วรรคท้ายศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาไปในทันทีเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี แต่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการดังกล่าวให้ถูกต้องเสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายอาคารพร้อมที่ดิน ให้แก่นายสมบูรณ์ โล่วีรวุฒิ ผู้เสียหาย ตกลงโอนกรรมสิทธิ์เมื่อผู้เสียหายผ่อนชำระเงินครบถ้วนตามสัญญา ต่อมาจำเลยทั้งสองโดยทุจริตได้ไปเก็บเงินค่าอาคารและที่ดินงวดที่ 5จำนวน 250,000 บาท จากผู้เสียหายโดยร่วมกันหลอกลวง ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า จำเลยทั้งสองจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อาคารพร้อมที่ดินให้ตามสัญญาได้จริง แต่ความจริงจำเลยทั้งสองได้ไปทำสัญญาจะขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารดังกล่าวบางส่วนให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 250,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นายสมบูรณ์ โล่วีรวุฒิ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 4,000 บาทจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 250,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมแล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาข้อกฎหมายว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษาคนเดียวลงนามให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปีนั้น เป็นการขัดต่อกฎหมายพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 วรรคท้ายกำหนดว่าในการพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา 22(5) ถ้าศาลแขวงเห็นว่าควรลงโทษจำคุกจำเลยเกินหกเดือนหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับก็ให้มีอำนาจพิพากษาได้ แต่จะต้องให้ผู้พิพากษาอีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 2 มีกำหนด2 ปี แต่มีผู้พิพากษาลงนามเพียงคนเดียว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในปัญหานี้ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อนฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น กรณีจึงยังไม่สมควรวินิจฉัยฎีกาจำเลยทั้งสองข้ออื่นในชั้นนี้”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ต่อไป