คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1372/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีฟ้องหย่ากับภริยากล่าวในฟ้องว่า ภริยาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยภริยาสมคบกับพี่สาวลักเช็คของสามี เงิน 3,000 บาท ไปและภริยายักยอกหรือฉ้อโกงเงินราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 42,500 บาท 75 สตางค์ จำเลยให้การปฏิเสธ เช่นนี้ เป็นการสมควรที่ศาลจะได้ฟังพยานหลักฐานของคู่ความเสียก่อน เพราะถ้าได้ความจริงตามฟ้อง ก็อาจถือได้ว่าเป็นความประพฤติชั่วอย่างร้อยแรง ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1500 (2) ได้
ฟ้องหย่าอ้างเหตุว่าภรรยาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฟ้องในข้อต่อมากล่าวว่าจำเลย ด่าท้าทายญาติพี่น้องตลอดถึงบุพพารีของโจทก์เมื่ออ่านรวมกับฟ้องทั้งหมดแล้วเป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์อ้างเหตุนี้เป็นเพียงเหตุประกอบคำฟ้องของโจทก์ในตอนต้น ๆ เพื่อให้เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องตอนต้นนั้น เป็นการประพฤติชั่วถึงขีดร้ายแรงเท่านั้น แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวว่าค่าท้าทายว่า อย่างไร โจทก์ก็นำสืบได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 26/2503)

ย่อยาว

โจทก์ผู้เป็นสามีออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นแล้วฟ้องขอหย่ากับจำเลยซึ่งเป็นภริยา และขอเป็นผู้ปกครองบุตรธิดา กล่าวอ้างว่า ภริยาเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยอ้างเหตุอันควรหย่ามา ๓ ประการ คือ
(๑) ว่าจำเลยสมคบกับพี่สาว ของจำเลยลักเช็คของโจทก์ เงิน ๓,๐๐๐ บาท ไป
(๒) ว่าจำเลยยักยอกหรือฉ้อโกงเงินราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ๔๒,๕๐๐ บาท ๗๕ สตางค์ และ
(๓) ว่าจำเลยค่าท้ายทายญาติพี่น้องของโจทก์ตลอดถึงบุพการีของโจทก์
เมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้วศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน วินิจฉัยว่า เหตุที่อ้างในข้อ (๑) และ (๒) ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้ถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญา และต้องคำพิพากษาให้จำคุก โจทก์จะอ้างเหตุนี้ขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้ ส่วนเหตุที่อ้างในข้อ (๑) นั้น ตามฟ้องมิได้บรรยายว่า เป็นการหมิ่นประมาทบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงอย่างใด ฟ้องของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาพิเคราะห์ฟ้องและคำให้การแก้คดีของจำเลยแล้วเห็นว่า ในกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยได้สมคบว่าจำเลยได้กระทำการทุจริตยักยอกหรือฉ้อโกง เงินราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เงิน ๔๒,๕๐๐ บาท ๗๕ สตางค์ ไปก็ดี ทั้ง ๒ ประการนี้ จำเลยปฏิเสธ ข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างใด ยังไม่ปรากฏชัด เป็นการสมควรที่ศาลที่ศาลจะได้ฟังคำพยานหลักฐานของคู่ความเสียก่อน จึงจะเป็นการชอบเพราะหากได้ความสมจริงดังโจทก์กล่าวอ้าง ก็อาจถือได้ว่าเป็นการพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐๐ ข้อ ๒ ได้
ส่วนปัญหาตามฟ้องข้อ ๗ จำเลยด่าท้าทายญาติและบุพการีของโจทก์เป็นการเคลือบคลุมหรือไม่นั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่ออ่านคำฟ้องของโจทก์ตลอดแล้ว ฟ้องข้อ ๓ ตอนที่ว่า จำเลยกลับติดตามไปด่าท้าทายญาติพี่น้อง ของโจทก์ตลอดถึงบุพการีของโจทก์อีกต่าง ๆ นา ๆ นั้น เป็นแต่เพียงเหตุประกอบคำฟ้องของโจทก์ในตอนต้น ๆ เพื่อให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องตอนต้นนั้น เป็นการประพฤติชั่วถึงขีดร้ายแรงเท่านั้น หาใช่ยกเหตุนี้โดยเฉพาะขึ้นเป็นเหตุหย่าไม่ ฉะนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าได้ค่าท้าทายว่าอย่างไร ก็ไม่ทำให้ถึงกับฟ้องตอนนี้เสียไป ศาลย่อมฟังข้อเท็จจริงเพื่อประกอบมูลเหตุฟ้องหย่าอันแท้ซึ่งโจทก์กล่าวไว้ในตอนต้นของคำฟ้องได้
ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปความ
หมายเหตุ คดีนี้เข้าประชุมใหญ่ ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๒๑/๒๕๐๓ และลงมติ ครั้งที่ ๒๖/๒๕๐๓

Share