คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำหนังสือยินยอมหย่าจะทำกันที่ไหนก็ได้ก่อนจดทะเบียนการหย่าเมื่อโจทก์และ ว. ทำหนังสือยินยอมหย่ากัน ณ ที่ว่าการอำเภอก่อนที่จะจดทะเบียนการหย่าโดยทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อและมีพยานสองคนลงลายมือชื่อครบถ้วน จึงเป็นหนังสือยินยอมหย่าที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง การที่โจทก์และ ว. นำหนังสือยินยอมหย่าไปแสดงและเจ้าพนักงานได้จดทะเบียนหย่าให้ตามความต้องการแล้ว การหย่าย่อมมีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 และพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 18 แม้นายทะเบียนจะมิได้แจ้งการจดทะเบียนการหย่าไปยังที่ว่าการอำเภอที่จดทะเบียนสมรสหรือสำนักงานทะเบียนกลางตามระเบียบการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2483ก็ตาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายวิบูลย์จุลพันธ์ ซึ่งรับราชการเป็นปลัดอำเภอสว่างอารมณ์ ต่อมานายวิบูลย์ถึงแก่ความตาย โจทก์กับบุตรทั้งสองและมารดาของผู้ตายมีสิทธิ์รับเงินบำเหน็จตกทอดกับเงินช่วยพิเศษเป็นส่วนเท่ากันโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองผู้มีหน้าที่เบิกจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเบิกจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดกับเงินช่วยพิเศษแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ก่อนนายวิบูลย์ ถึงแก่ความตายโจทก์กับนายวิบูลย์ ได้หย่าขาดจากกันแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดกับเงินช่วยพิเศษของผู้ตายจากทางราชการ ทั้งเงินดังกล่าวก็มิใช่มรดกของผู้ตายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเงินบำเหน็จตกทอดกับเงินช่วยพิเศษไม่เป็นมรดกที่โจทก์จะขอรับในฐานะผู้จัดการมรดก โจทก์คงมีสิทธิในฐานะส่วนตัวพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเบิกจ่ายให้โจทก์ 1 ใน 4 ส่วน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง โจทก์ในฐานะส่วนตัวด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อ้างว่าบันทึกการหย่าโดยความยินยอมตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่ได้ทำมาก่อนที่บ้านคู่กรณีจึงเป็นการไม่ชอบนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสองบัญญัติว่า “การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน” ซึ่งการทำหนังสือยินยอมหย่ากันตามที่บัญญัติไว้นั้น มิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องทำที่บ้านของคู่กรณีตามที่โจทก์อ้าง> จะทำที่ไหนก็ ได้ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนหย่า เมื่อเอกสารหมาย จ.4 นั้น ได้ความว่า โจทก์และนายวิบูลย์ ทำขึ้นที่ว่าการอำเภอก่อนที่จะมีการจดทะเบียนการหย่า โดยทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้และมีพยานลงลายมือชื่อสองคนถูกต้องจึงเป็นหนังสือยินยอมหย่าที่ถูกต้องตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น สำหรับการที่โจทก์อ้างมาในฎีกาประการสุดท้ายว่า การที่เจ้าพนักงานทะเบียนไม่ได้แจ้งการหย่าไปยังที่ว่าการอำเภอที่จดทะเบียนสมรส และสำนักทะเบียนกลางกรุงเทพมหานครการหย่าจึงยังไม่สมบูรณ์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1515 บัญญัติว่า “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว” และตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช 2478 มาตรา 18 บัญญัติว่า “การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมนั้น ให้นายทะเบียนรับจดต่อเมื่อสามีและภริยาร้องขอและได้นำหนังสือตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1498 วรรคสอง (มาตรา 1514ปัจจุบัน) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย”เมื่อโจทก์และนายวิบูลย์ ได้นำหนังสือยินยอมหย่าตามเอกสารหมายจ.4 มาแสดงและเจ้าพนักงานทะเบียนได้จดทะเบียนหย่าให้ตามความต้องการตามทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.3 แล้วการหย่าของโจทก์กับนายวิบูลย์ ก็มีผลสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดนับแต่ได้มีการจดทะเบียนการหย่าแล้ว ส่วนการที่มีระเบียบการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2483 จ้อ 4, 7 และ 31 กำหนดให้นายทะเบียนที่รับการจดทะเบียน ต้องแจ้งการจดทะเบียนการหย่าไปยังที่ว่าการอำเภอที่จดทะเบียนสมรสก็ดี หรือต้องแจ้งไปยังสำนักงานทะเบียนกลางกรุงเทพมหานครก็ดีเป็นแต่เพียงวิธีการในการปฏิบัติราชการให้มีหลักฐานปรากฏเพื่อประโยชน์แก่การควบคุมและตรวจสอบการรับจดทะเบียนอันเป็นการวางระเบียบภายในให้ถือปฏิบัติระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยด้วยกันเท่านั้น การที่ไม่แจ้งไปจึงไม่ทำให้การจดทะเบียนหย่านั้นไม่สมบูรณ์ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่ประการใด
พิพากษายืน.

Share