คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 10 ทวิ วรรคแรก กำหนดให้ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของ เข้าสำเร็จ ซึ่งมาตรา 41 บัญญัติให้ถือว่าการนำของเข้ามาเป็น อันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่าย ของจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง ดังนั้นเมื่อเรือนำของที่ โจทก์สั่งซื้อเข้ามาในเขตท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีชื่อ ส่งของถึงแล้ว ความรับผิดของโจทก์ที่จะชำระค่าอากรขาเข้าสำหรับ ของที่นำเข้าจึงสำเร็จแล้วแม้ว่ายังไม่ได้รับการปล่อยของไป และของนั้นได้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดขณะที่อยู่บนเรือ ก็ไม่มีกฎหมาย ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าอากรขาเข้าที่ชำระไปแล้วคืนได้ ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 7)เรื่อง กำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้าของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก กำหนดให้ผู้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าชำระภาษีในวันนำเข้า ซึ่งวันนำเข้าดังกล่าวตามมาตรา 78 เบญจ(1)แห่งประมวลรัษฎากรให้หมายถึงวันที่ชำระอากรขาเข้า เช่นนี้ เมื่อตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 10 วรรคแรก กำหนดให้เสียภาษีแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระค่าอากรขาเข้าไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 วันดังกล่าวจึงเป็นวันนำเข้าแล้ว โจทก์จะอ้างว่าการนำเข้าสำเร็จเมื่อมีการส่งมอบของที่นำเข้าโดยต้องพ้นจากความอารักขาของพนักงานศุลกากรแล้ว โดยอ้างบทบัญญัติในมาตรา 2 วรรคสิบเอ็ด (แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร)ซึ่งเป็นบทนิยามของคำว่า ผู้นำของเข้าหาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไปในวันดังกล่าวแล้วจึงเป็นการชำระที่ถูกต้อง แม้ต่อมาของที่โจทก์นำเข้าจะถูกไฟไหม้เสียหายหมดก่อนที่จะได้รับการตรวจปล่อยของไป ก็ไม่มีกฎหมายให้สิทธิโจทก์ที่จะเรียกค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ชำระไปแล้วคืนได้ ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าของที่นำเข้าถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับอากรคืนตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 95 ก็ดี รายรับของโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 79 ตรี(15) ก็ดี เป็นข้อที่โจทก์มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างอีกทั้งปัญหาดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา 29.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้ชำระไปเกี่ยวกับการนำของเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ก่อนที่จำเลยจะตรวจปล่อยและส่งมอบให้โจทก์ ของถูกไฟไหม้ไปทั้งหมด ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 92,377.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 85,654 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่สินค้าที่นำเข้าถูกไฟไหม้มิได้เกิดจากอุบัติเหตุอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะขอคืนภาษีกรณีไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับยกเว้นมิให้นำรายรับที่เกิดขึ้นมาคำนวณภาษีการค้า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าภาษีอากรพร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า สำหรับค่าอากรขาเข้านั้นพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคแรก บัญญัติว่า ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ และมาตรา 41 บัญญัติว่า ถ้ามีความจำเป็นด้วยประการใด ๆ เกี่ยวด้วยการศุลกากรที่จะกำหนดเวลาเป็นแน่นอนว่า การนำของใด ๆ เข้ามาจะพึงถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อไรไซร้ท่านให้ถือว่าการนำของเข้ามาเป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่ายของจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึงข้อเท็จจริงปรากฏว่า เรือสี่เฮียงนำของที่โจทก์สั่งซื้อเข้ามาในเขตท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2531ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีชื่อส่งของถึงและจะถ่ายของจากเรือ ดังนั้นความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่โจทก์นำเข้าจึงเกิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม 2531 เมื่อโจทก์ชำระค่าอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้าสำเร็จแล้วยังไม่ได้รับการตรวจปล่อยของไปของนั้นได้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดขณะที่อยู่บนเรือสี่เฮียงก็ไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าอากรขาเข้าที่ได้ชำระไปแล้วคืนได้ ส่วนค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้น ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) เรื่อง กำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้าของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกประกาศ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2513 ข้อ 2 กำหนดให้ผู้นำเข้ายื่นแบบแสดงรายการการค้าพร้อมกับการยื่นใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และชำระภาษีในวันนำเข้า และประมวลรัษฎากร มาตรา78 เบญจ บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บและชำระภาษีตามหมวดนี้ (1) วันนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าตามมาตรา 78 ตรีและมาตรา 78 จัตวา หมายความว่า วันที่ชำระอากรขาเข้า…พระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคแรก บัญญัติว่า…การเสียภาษีให้เสียแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ชำระค่าอากรขาเข้าแก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 วันดังกล่าวจึงเป็นวันนำเข้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 เบญจ(1) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยไปในวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 จึงเป็นการชำระที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว แม้ของที่โจทก์นำเข้านั้นจะถูกไฟไหม้เสียหายหมดขณะที่อยู่บนเรือ ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้รับการตรวจปล่อยของดังกล่าวไป ก็ไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ได้ชำระไปแล้วคืนดังนั้น การที่จำเลยไม่คืนค่าภาษีอากรแก่โจทก์จึงชอบแล้ว ที่โจทก์อ้างว่า การนำเข้าจะสำเร็จต่อเมื่อมีการส่งมอบของที่นำเข้าไปโดยถูกต้องพ้นจากความอารักขาของพนักงานศุลกากรแล้ว โดยอ้างความในมาตรา 2 วรรคสิบเอ็ดที่ว่า ผู้นำของเข้า หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองหรือมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากรนั้น เห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงบทนิยามของคำว่าผู้นำของเข้า หาใช่บทนิยามของคำว่านำเข้าสำเร็จไม่ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ของที่โจทก์นำเข้าได้เกิดเพลิงไหม้โดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในขณะที่ของนั้นอยู่บนเรือ โจทก์ย่อมจะได้รับคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 95 และรายรับของโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา79 ตรี(15) จำเลยจึงต้องคืนค่าภาษีอากรแก่โจทก์นั้น เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวอ้างเหตุตามข้ออุทธรณ์ไว้ จึงไม่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลางและปัญหาดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share