แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อำนาจของศาลจังหวัดที่จะใช้ดุลพินิจสั่งรับหรือปฏิเสธไม่รับคดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(2) นั้น ศาลจังหวัดจะต้องสั่งเมื่อมีการยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดนั้น และการที่ศาลจังหวัดได้ดำเนินการพิจารณาจนเสร็จสำนวนแล้ว ย่อมแสดงว่าได้ใช้ดุลพินิจยอมรับคดีไว้อยู่ในตัวแล้ว.
ย่อยาว
ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ โดยยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศาลนี้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้อง เมื่อสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จแล้ว ศาลนี้พิพากษาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจและเขตอำนาจศาลแขวงสุราษฎร์ธานีที่จะพิจารณาพิพากษา จึงให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์ไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ และให้จำหน่ายคดีนี้เสีย
โจทก์อุทธรณ์ว่า ถ้าศาลชั้นต้นจะไม่รับฟ้องเพราะเหตุนี้ ควรสั่งเสียก่อนสืบพยาน ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดข้อเท็จจริงต่อไปตามประเด็นแห่งคดี
จำเลยฎีกาว่า ในคดีเช่นนี้ ตราบใดที่ศาลจังหวัดยังไม่ได้พิพากษา ศาลจังหวัดย่อมมีอำนาจที่จะปฏิเสธไม่พิจารณาหรือไม่พิพากษาเมื่อใดก็ได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๔(๒) ดุลพินิจของศาลจังหวัดที่จะสั่งรับหรือปฏิเสธไม่รับคดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ต้องสั่งเมื่อมีการยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัด และการที่ศาลจังหวัดได้ดำเนินการพิจารณาจนเสร็จสำนวน ย่อมแสดงว่าได้ใช้ดุลพินิจยอมรับคดีไว้อยู่ในตัวแล้ว พิพากษายืน.