คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนองน้ำที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติสำหรับราษฎรในหมู่บ้านใช้เป็นที่จับปลาและเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแม้ทางราชการจะไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ไม่ใช่ข้อสารสำคัญเพราะไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องกระทำดังกล่าว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “พยานจำเลยดังกล่าวยืนยันว่าที่พิพาทเป็นหนองสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนในละแวกนั้นใช้เลี้ยงสัตว์จับปลาฤดูฝนน้ำจะท่วมที่พิพาท ฤดูแล้งน้ำจะขังลึก 50 เซนติเมตร ใช้ทำนาไม่ได้นอกจากนี้จำเลยมีพระครูทนสารพิศิษฐ์ เจ้าคณะตำบลบ้านดง และนายบุญแสงครูใหญ่โรงเรียนบ้านกุดเชียงมีพยานมาเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยและว่าราษฎรใช้หนองเดิดจับปลาร่วมกัน บางปีก็ประมูลขายปลาเอาเงินไปบูรณะวัดและโรงเรียน เมื่อ พ.ศ. 2507 ทางราชการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้ที่ดินบริเวณใกล้ลำน้ำพองกับที่พิพาทน้ำไม่ท่วมใช้ทำนาได้ และที่พิพาทก็ตื้นเขินขึ้นเป็นเหตุให้ลูกหลานของโจทก์เข้าไปถากถางทำนา แม้พยานจำเลยจะเบิกความแตกต่างกันบ้างว่าปีไหนประมูลขายปลา ในที่พิพาทได้เงินเท่าใด นำเงินไปถวายพระเท่าใด ก็ไม่ใช่ข้อสารสำคัญแห่งคดี เห็นว่าพยานจำเลยดังกล่าวไม่เป็นญาติกับฝ่ายใด จึงน่าเชื่อถือมากกว่าพยานโจทก์ว่าเมื่อ พ.ศ. 2509 นายสิงห์นายอาด นายปรีชาได้บุกรุกถากถางที่พิพาททางทิศใต้ทำเป็นนา 10 ไร่ ที่ทางราชการออกใบย่ำที่พิพาทให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น นายหวันพยานจำเลยเบิกความว่าสามีโจทก์ถากถางที่พิพาทตามที่ขอจับจองได้ประมาณ 1 ไร่ชาวบ้านก็ไปร้องคัดค้านต่อนายอำเภอน้ำพอง นายอำเภอน้ำพองออกไปตรวจสภาพที่พิพาทแล้วเห็นว่าเป็นหนองสาธารณประโยชน์ สามีโจทก์จึงขอถอนจับจอง หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาทอีกใบเหยียบย่ำที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 ให้ทำประโยชน์มีกำหนด 1 ปี และไม่มีการต่ออายุให้ย่อมหมดสิทธิในที่ดิน ทั้งโจทก์ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ไว้อันเป็นการเจือสมพยานจำเลยว่า โจทก์กับสามีโจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทมาก่อนเลย ประกอบกับศาลชั้นต้นไปเผชิญสืบตรวจดูสภาพทั่ว ๆ ไปของที่พิพาท ปรากฏว่าที่พิพาทเป็นที่ลุ่มต่ำคล้ายรูปกะทะประมาณครึ่งหนึ่งมีคันนาแบ่งออกเป็นแปลง ๆ มีซังข้าวหลงเหลืออยู่ประมาณ8 ไร่ อยู่ชิดบริเวณที่ลุ่มที่สุด ซึ่งยังมีน้ำขังและปลูกข้าวไม่ได้ประมาณ 4-5 ไร่ทางด้านทิศตะวันออกมีฝายกั้นสูงประมาณ 2 เมตร หลังฝายกว้าง 1 เมตรฐาน 2 เมตร ยาว 40 เมตรขอบรอบที่พิพาทสูงประมาณ 4 เมตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ยืนยันว่าชาวบ้านร่วมกันสร้างฝายน้ำด้านตะวันออกไว้ก่อนสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อประโยชน์ไม่ให้น้ำในที่พิพาทไหลออกโจทก์รับว่าฝายน้ำด้านตะวันออกเดิมเป็นคันนากั้นแดนระหว่างที่พิพาทกับนานายพรหม แต่มีการเสริมกันเรื่อนมาจนปัจจุบันมีสภาพเป็นฝายโดยใช้เงินงบประมาณก่อสร้างขึ้น ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 ธันวาคม2519 เรื่องฝายกั้นน้ำโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงน่าเชื่อตามที่ผู้ใหญ่บ้านทั้งสองให้การไว้ เห็นว่าที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างฝายกั้นน้ำและทางราชการนำเงินงบประมาณมาก่อสร้างฝาย เพราะราษฎรต้องการกักเก็บน้ำในที่พิพาทไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่จำเลยนำสืบ จึงมีน้ำหนักฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นหนองน้ำที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สำหรับราษฎรในหมู่บ้านใช้เป็นที่จับปลาและเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน อันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ทางราชการจะไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็ไม่ใช้ข้อสารสำคัญเพราะไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องกระทำดังกล่าว”

พิพากษายืน

Share