แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะแต่งตั้งทนายความนั้น ผู้ที่จะแต่งตั้งจะต้องเซ็นชื่อของตนเองไว้ในช่องผู้แต่งตั้ง ทนายความด้วยตนเอง (ป.วิ.พ. มาตรา 61, 67) การแต่งตั้งทนายความนั้น จึงจะสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมาย การที่ตัดเอาลายเซ็นชื่อของผู้แต่งตั้งทนายความจากที่อื่นมาปิดลงไว้ในช่องผู้แต่งตั้งทนายความมิได้เซ็นชื่อในใบแต่งตั้งทนาย แม้ผู้แต่งตั้งทนายความจะรับรองหรือให้สัตยาบัน ก็ไม่ทำให้ลายมือชื่อของผู้แต่งตั้งทนายความในใบแต่งทนายโดยถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 ขึ้นได้
ย่อยาว
ได้ความว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์โดยอ้างว่า เป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาคดีแดงที่ ๓๖๕/๒๕๐๑ โดยแต่งหลวงสรรพนิติพัทธ์เป็นทนาย โดยผู้ร้องไม่ได้เซ็นชื่อในช่องแต่งทนาย แต่ได้ตัดลายเซ็นของผู้ร้องในกระดาษอื่นมาปะติดไว้ในช่องแต่งทนาย ศาลชั้นต้นไม่รับใบแต่งทนาย และให้นำตัวผู้ร้องมายืนยันลายเซ็นก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๒ หลวงสรรพนิติพัทธ์ทนาย ได้ยื่นคำร้องขอนำตัวผู้ร้องมารับรองลายเซ็นใหม่ในใบแต่งตั้งทนายภายในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๒ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันที่ ๒๗ เดือนนั้น โจทก์แถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องเพราะใบแต่งทนายไม่สมบูรณ์ ต่อมาวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๐๒ ผู้ร้องยื่นคำแถลงต่อศาล ขอรับรองลายเซ็นในใบแต่งทนายและให้สัตยาบันในกิจการที่หลวงสรรพนิติพัทได้กระทำไป ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า ผู้ร้องได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลครบถ้วนแล้ว ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น และรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะแต่งตั้งทนายความนั้น ผู้ที่จะแต่งตั้งจะต้องเซ็นชื่อของตนเองไว้ในช่องผู้แต่งตั้ง ทนายความด้วยตนเอง (ป.วิ.พ. มาตรา ๖๑, ๖๗) การแต่งตั้งทนายความนั้น จึงจะสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมาย การที่ตัดเอาลายเซ็นชื่อของผู้แต่งตั้งทนายความจากที่อื่นมาปิดลงไว้ในช่องผู้แต่งตั้งทนายความมิได้เซ็นชื่อในใบแต่งตั้งทนาย แม้ผู้แต่งตั้งทนายความจะรับรองหรือให้สัตยาบัน ก็ไม่ทำให้ลายมือชื่อของผู้แต่งตั้งทนายความในใบแต่งทนายโดยถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๖๑ ขึ้นได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น