คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งศาลต้องจดไว้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เป็นพยานเอกสารอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์จึงชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ส่วนที่จะรับฟังหรือไม่เพียงใดเป็นดุลพินิจของศาลที่พิจารณาจะวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง
ฉะนั้น เมื่อศาลล่างฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาโดยวินิจฉัยถึงคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบกับคำพยานอื่นที่ได้มาเบิกความในชั้นพิจารณาจึงไม่เป็นการผิดต่อกฎหมาย แต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันยักยอกลายพิมพ์นิ้วมือ แจ้งความเท็จ เป็นเจ้าพนักงานจดข้อความเท็จขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมาย ลักษณะอาญา มาตรา ๖๓, ๓๑๕, ๒๒๖ และ ๒๓๐
จำเลยทั้ง ๕ คน ต่างให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่านายอินโจทก์ได้พิมพ์ลายนิ้วมือมอบให้จำเลยที่ ๑ ไปเพื่อใช้ในการไถ่ถอนโฉนดที่วางเป็นประกันเงินกู้ ไว้กับนางวันดีคืนมา จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๑ กลับสมคบกันนำไปทำเป็นใบมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินให้แก่จำเลย ที่ ๒ และ ที่ ๓ โดยทุจริตจริง ส่วนจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ นั้น ยังฟังไม่ถนัดว่าได้กระทำผิดดังฟ้อง จึงพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๓, ๓๑๕, ๒๒๖ ให้ลงโทษตาม มาตรา ๒๒๖ ซึ่งเป็นกระทงหนัก โดยจำคุกจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นตัวการสำคัญ ๑ ปี ๖ เดือน จำคุกจำเลย ที่ ๒, ๓ คนละ ๑ ปี ส่วนจำเลย ที่ ๔ ที่ ๕ นั้น ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๔ ที่ ๕
จำเลยทั้งสามที่ต้องโทษ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยนั้น คำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งศาลต้องจดไว้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เป็นพยานเอกสารอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์จึงชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ตามมาตรา ๒๒๖ แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่วนที่จะรับฟังหรือไม่เพียงใดเป็นดุลพินิจของศาลที่พิจารณาจะวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง ตามมาตรา ๒๒๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น สำหรับคดี เมื่อศาลล่างฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาโดยวินิจฉัยถึงคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบกับคำพยานอื่นที่ได้มาเบิกความในชั้นพิจารณาจึงไม่เป็นการผิดต่อกฎหมาย แต่อย่างใด หาใช่เป็นเรื่องที่ศาลรับเอาแต่คำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาวินิจฉัย ข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องให้พยานมาเปิดความในชั้นพิจารณา ดังที่จำเลยกล่าวในฎีกาไม่ ส่วนที่นายอินโจทก์ เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง มิได้กล่าว ถึงวันเวลา เกิดเหตุไว้นั้น ก็ไม่เห็นจะถือไว้อย่างไรว่า ทำให้ข้อเท็จจริงตามพิจารณาแตกต่างกับที่ระบุในฟ้อง อันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องของโจทก์เสียได้ตามฎีกาของจำเลย ฉะนั้น
ที่ศาลทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงลงโทษจำเลยมา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share