คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เป็นบทลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ในกรณีทั่วๆ ไปส่วนการที่จำเลยไม่ไปรายงานตนภายใน 24 ชั่วโมง ตามคำสั่งของตำรวจจราจรในกรณีจำเลยทำผิดกฎหมายจราจรจะเป็นผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 อีกด้วยหรือไม่นั้นต้องระลึกถึงหลักการใช้กฎหมายอาญาว่ากฎหมายจราจรมีความประสงค์จะลงโทษบุคคลผู้ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้จากบทบัญญัติของกฎหมายนั้นๆเองเรื่องนี้ ถึงแม้จะมี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 มาตรา 64 ให้อำนาจเจ้าพนักงานสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ละเมิด พระราชบัญญัติจราจรทางบกไปรายงานตนภายใน 24 ชั่วโมง ก็จริง แต่ พระราชบัญญัตินี้ก็ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น เพราะข้อความในมาตรา 67 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัตจราจรทางบก พ.ศ.2478 มาตรา 5 แสดงให้เห็นว่า การที่ให้ไปรายงานตนนั้น กฎหมายมีความประสงค์เพื่อความสดวกของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น คือ ผู้ไปรายงานยอมให้เปรียบเทียบ ก็ไม่ต้องถูกฟ้องเป็นจำเลย ฝ่ายเจ้าพนักงานก็ไม่ต้องเสียเวลาสอบสวนพยานเพื่อดำเนินคดีต่อศาล แต่ถ้าผู้ได้รับคำสั่งไม่ไปรายงาน ก็เท่ากับผู้นั้นปฏิเสธความผิดไม่ยอมให้เปรียบเทียบ ซึ่งก็มีทางแก้อยู่แล้ว คือเจ้าพนักงานดำเนินคดีฟ้องต่อศาลดุจคดีอื่นๆผู้ไม่ไปรายงานตนหามีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซ้ำอีกกระทงหนึ่งไม่
(ควรเทียบดูกับฎีกาที่ 728/2502 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เกี่ยวกับปัญหาเช่นเดียวกันนี้ แต่ข้อวินิจฉัยมีต่างกันบ้าง)

ย่อยาว

คดีได้ความตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยว่า เจ้าพนักงานตำรวจจราจรสั่งให้จำเลยไปรายงานตนเองต่อเจ้าพนักงานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตรังภายใน 24 ชั่วโมง เพราะจำเลยทำผิด พระราชบัญญัติจราจรแต่จำเลยไม่ไปตามกำหนด

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477มาตรา 24, 66 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 มาตรา 4 กับฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบกตามที่โจทก์ขอ ลดรับกึ่งคงให้ปรับจำเลย 15 บาท ส่วนข้อหาว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยไม่ไปสถานีตำรวจตามคำสั่ง ก็ชอบที่จะจัดการออกหมายจับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 66 จะเอาผิดจำเลยฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ได้ให้ยกฟ้องเฉพาะข้อหาฐานนี้

โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยควรมีผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 แล้ว ศาลก็ต้องลงโทษตามมาตรานี้ จะอ้างว่าเจ้าพนักงานมีทางออกหมายจับจำเลยได้นั้นไม่ชอบเพราะ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ เมื่อจำเลยทำผิดก็ต้องใช้กฎหมายสารบัญญัติมาลงโทษจำเลย ไม่ใช่เอากฎหมายวิธีสบัญญัติมาลงโทษแทน มิฉะนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ก็จะไม่มีที่ใช้

ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เป็นบทลงโทษแก่ผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ในกรณีทั่ว ๆไปจริงตามความเข้าใจของโจทก์ แต่ต้องระลึกถึงหลักการใช้กฎหมายอาญาว่า กฎหมายนั้นมีความประสงค์จะลงโทษบุคคลผู้ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือไม่ ทั้งนี้ จะเห็นได้จากบทบัญญัติของกฎหมายนั้น ๆ เอง เรื่องนี้ ถึงแม้จะมี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 64 ให้อำนาจเจ้าพนักงานสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ละเมิด พระราชบัญญัติ จราจรทางบกไปรายงานตนภายใน 24ชั่วโมง ก็จริง แต่ พระราชบัญญัติ นี้ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น พึงเห็นได้จาก มาตรา 67 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2478 มาตรา 5 มีความว่า ถ้าผู้ได้รับทราบคำสั่งไปรายงานตนภายในกำหนด เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีตำแหน่งและยศตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้แต่ถ้าผู้ได้รับคำสั่งฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตนตามคำสั่ง ห้ามมิให้เจ้าพนักงานตำรวจเปรียบเทียบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่ให้ไปรายงานนั้น กฎหมายมีความประสงค์เพื่อความสะดวกของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น คือ ผู้ไปรายงานยอมให้เปรียบเทียบ ก็ไม่ต้องถูกฟ้องเป็นจำเลย ฝ่ายเจ้าพนักงานก็ไม่ต้องเสียเวลาสอบสวนพยานเพื่อดำเนินคดีต่อศาล แต่ถ้าผู้ได้รับคำสั่งไม่ไปรายงาน ก็เท่ากับผู้นั้นปฏิเสธความผิดไม่ยอมให้เปรียบเทียบ ซึ่งก็มีทางแก้อยู่แล้ว คือเจ้าพนักงานดำเนินคดีฟ้องต่อศาลดุจคดีอื่น ๆ ผู้ไม่ไปรายงานตนหามีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอีกกระทงหนึ่งไม่

ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share